รีเซต

[บทความ] ทำไมวิดีโอเกมถึงเป็นแพะรับบาปตลอดเวลาเกิดความรุนแรง

[บทความ] ทำไมวิดีโอเกมถึงเป็นแพะรับบาปตลอดเวลาเกิดความรุนแรง
แบไต๋
5 ตุลาคม 2566 ( 01:52 )
69

เชื่อว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์เด็กวัยเพียงแค่ 14 ปีกราดยิงในห้างพารากอน แฟนเกมหลายคนคงเกิดอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ เพราะคาดว่าเกมจะกลายเป็นตัวร้ายให้โทษกันอีกแน่ ๆ และก็ตามคาดไม่นานทุกสื่อก็แทบจะพร้อมใจชี้หน้าโทษวิดีโอเกม เพียงเพราะว่าคนร้ายเป็นเด็ก

ซึ่งหากตามข่าวมายาวนานมันไม่ใช่ครั้งแรก เพราะวิดีโอเกมเป็นผู้ร้ายมาตลอดหลาย 10 ปีแล้ว และไม่ใช่แค่เมืองไทยเท่านั้นแม้แต่ประเทศเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีการโทษเกมแทบจะทุกครั้งที่มีความรุนแรงที่เกิดจากเด็กและเยาวชนเช่นกัน เพราะตั้งแต่ยุค 90S เกมยิงยุคแรก ๆ ที่กราฟิกยังเป็นพิกเซลอย่าง Wolfenstein 3D และ Doom ภาคแรก มันก็ถูกมองเป็นวัตถุสร้างความรุนแรงมาแล้วทั้งที่มีกราฟิกไม่สมจริงและดูไม่น่ากลัวเลย

นอกจากนี้ในอเมริกาตั้งแต่มีการจัดเรตเกมช่วงต้นยุค 90S ก็มีประเด็นร้อนเกี่ยวกับความรุนแรงในเกมออกมามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่นักการเมืองรวมทั้งสื่อมวลชนมักจะกล่าวโทษเกมในทันที ยกตัวอย่างไม่นานมานี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ( Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ได้เคยออกมากล่าวถึงเหตุกราดยิงแล้วโยงเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรุนแรงของวิดีโอเกม

ทั้ง ๆ ที่มีงานวิจัยมากมายที่ระบุว่า ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าวิดีโอเกมเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมรุนแรงของผู้เล่น แม้แต่สมาคมนักจิตวิทยาของอเมริกาได้กล่าวว่า “ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่เชื่อมโยงสาเหตุ หรือความเกี่ยวข้องว่า การเล่นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรงจะส่งผลให้ผู้เล่นทำกิจกรรมที่มีความรุนแรงตามแบบในเกม”

และยังเสริมด้วยข้อมูลจาก คริส เฟอร์กูสัน (Chris Ferguson) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยสเต็ตสัน ได้บอกอย่างชัดเจนว่าเกมที่มีความรุนแรงไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว แม้แต่ศาลฎีกาก็คิดแบบเดียวกัน เพราะว่าในปี 2011 ศาลรัฐแคลิฟอร์เนียได้สั่งยกเลิกกฎหมายห้ามขายเกมที่มีความรุนแรงให้กับเด็ก เพราะว่ายังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเกมมีผลต่อความรุนแรงและพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของเด็ก

และนักจิตวิทยายังเสริมอีกว่าหากวิดีโอเกมเกี่ยวข้องกับเหตุกราดยิงจริง ๆ เราคงได้เห็นเหตุการณ์กราดยิงเกิดทุกวันในประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีตลาดเกมที่ใหญ่มาก และเป็นที่ตั้งของชุมชนคนเล่นเกมมากมาย รวมทั้งยังค่ายเกมดัง ๆ ทั้ง Nintendo, Sega และ Sony ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

แล้วทำไมวิดีโอเกมถึงกลายเป็นเหยื่อตลอดกาล ? คำตอบก็ง่าย ๆ เพราะว่ามันง่ายที่จะโทษเกม เพราะประชาชนบางส่วนที่มีอติกับเกมไปแล้วเนื่องจากตลอดเวลาหลาย 10 ปีมันเป็นตัวร้ายมาตลอด ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อและคล้อยตาม และเชื่อว่าทุกคนต้องเคยเล่นเกมทำให้เมื่อไปค้นประวัติคนร้ายแทบทุกคนต้องพบว่าเกี่ยวข้องกับเกมไม่มากก็น้อย เพราะมันเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายและทุกวันนี้เกมที่มีความรุนแรงบนสมาร์ตโฟนก็มี

ทำให้แม้ว่าจะมีข้อมูลมากมายออกมาแก้ต่างว่าวิดีโอเกมไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง แต่สื่อมวลชนส่วนใหญ่มักจะไม่หยิบยกมาอ้างอิง เพราะว่ามันง่ายกว่าที่จะหาผู้ร้ายสำเร็จรูปที่เป็นตัวร้ายมายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว

ยังดีที่ในปัจจุบันสื่อออนไลน์ทำให้กระแสนี้เริ่มเปลี่ยนไปบ้าง เพราะสื่อโซเชียลทำให้ผู้คนเข้าถึงความจริงได้มากขึ้นรวมทั้งยังสามารถแสดงคิดความเห็นได้ และผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเราเองก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น อย่างเหตุการณ์กราดยิงที่พารากอน หลังจากนั้น สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมากล่าวว่ายังไม่ควรด่วนสรุปว่ามันสาเหตุเป็นเพราะวิดีโอเกม

ถือว่าเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่หลายฝ่ายเริ่มเข้าใจว่าเกมมันไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อที่จะหาสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมเด็กถึงได้กระทำความรุนแรงระดับนี้ได้ เพราะชีวิตของเด็กหนึ่งคนไม่ใช่มีแค่เกม มีทั้งโรงเรียน, มีเพื่อนฝูง, และแน่นอน “ครอบครัว” ที่ทั้งหมดจะส่งผลต่อการกระทำของเด็กและเยาวชนมากว่าวิดีโอเกมเสียอีก

ที่มาข้อมูลบางส่วน nytimes / ที่มาภาพ Facebook

ข่าวที่เกี่ยวข้อง