รีเซต

รัสเซียชมโอเปกตัดสินใจเป็นกลาง กรณีลดกำลังการผลิตน้ำมัน

รัสเซียชมโอเปกตัดสินใจเป็นกลาง กรณีลดกำลังการผลิตน้ำมัน
TNN ช่อง16
10 ตุลาคม 2565 ( 12:55 )
60

หลังองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก หรือ โอเปก เห็นพ้องที่จะลดกำลังผลิตน้ำมันลง สวนทางกับที่สหรัฐฯ เรียกร้อง เพราะต้องการทำให้ราคาน้ำมันโลกลดต่ำลง ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอม ทำให้รัสเซียออกมาชื่นชมว่า โอเปกนั้นตัดสินใจถี่ถ้วนดีแล้ว 


---โอเปกเห็นพ้องลดการผลิตน้ำมัน---


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โอเปก ซึ่งมีสมาชิก 13 ประเทศ และพันธมิตรโอเปกอีก 10 ชาติ เห็นพ้องที่จะตัดลดกำลังการผลิตน้ำมันลงวันละ 2 ล้านบาร์เรล มากสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ แม้สหรัฐฯ คัดค้านก็ตาม และยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดิอาระเบีย ห่างไกลกันมากขึ้น


เมื่อวันอาทิตย์ (9 ตุลาคมดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า การตัดสินของโอเปกนั้นดีแล้ว ถือเป็นการทำงานที่มีการวางแผนร่วมกันของประเทศต่าง  ซึ่งมีสมดุลและพิจารณาถี่ถ้วนแล้วในภายกลุ่มโอเปก เพราะอย่างน้อยการตัดสินใจเช่นนี้ของโอเปก ก็ทำให้ช่วยรักษาสมดุลของความโกลาหลที่อเมริกาเป็นผู้ก่อได้


เปสคอฟ กล่าวว่า สหรัฐฯ เริ่มจะสูญเสียการควบคุมอารมณ์ หลังโอเปกมีมติดังกล่าว และสหรัฐฯ พยายามนำน้ำมันในคลังสำรองของตนออกมาสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นการเดินเกมที่ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น


---โอเปกเข้าข้างรัสเซีย?---


สำนักข่าว Al Jazeera รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินการทางการทูตมานานหลายเดือนแล้ว เพื่อโน้มน้าวในพันธมิตรในตะวันออกกลาง ให้ยอมตัดลดกำลังการผลิตน้ำมัน เพราะประธานาธิบดีโจ ไบเดน คาดหวังว่า จะควบคุมไม่ให้ราคาน้ำมันของสหรัฐฯ พุ่งสูงอีกครั้ง ก่อนการเลือกตั้งการเทอมในเดือนหน้านี้ ซึ่งพรรคเดโมแครตของเขากำลังตกที่นั่งลำบากและเสี่ยงที่จะสูญเสียการควบคุมสภาคองเกรส


ขณะที่คารีน ฌ็อง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การตัดสินใจของโอเปกนั้นมองการณ์สั้นไป เพราะเศรษฐกิจโลกยังอ่อนแรงจากผลกระทบของวิกฤตในยูเครน และชัดเจนว่าโอเปก พลัส นั้นเข้าข้างรัสเซีย


แน่นอนว่าโอเปกปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยไฮธัม อัล-กาอิส เลขาธิการโอเปกกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า “นี่ไม่ใช่การตัดสินใจของกลุ่มประเทศหนึ่ง ต่อต้านอีกกลุ่มประเทศหนึ่ง


ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นแกนนำโอเปก ระบุว่า ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะต้องรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นในชาติตะวันตก และเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ 


ด้านรักษาการรัฐมนตรีน้ำมันของคูเวต กล่าวว่า แม้กลุ่มโอเปกเข้าใจดีต่อความกังวลเรื่องราคาที่พุ่งสูง แต่ความกังวลหลักของโอเปก คือ การรักษาสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน


อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุกับ Al Jazeera ว่า ตลาดมักสร้างสมดุลด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ เมื่อคุณปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ราคาน้ำมันอาจจะต่ำกว่าที่โอเปกอยากเห็น


นักวิเคราะห์ยังกังวลว่า การลดกำลังการผลิตน้ำมันนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงของเศรษฐกิจขาลงให้กับโลก และเพิ่มอุณหภูมิของภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกด้วย




---อิทธิพลสหรัฐฯลด ตะวันออกกลางเข้าสู่ยุคใหม่---


ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่พอใจอย่างมาก ที่ซาอุดิอาระเบียเลือกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ที่ขัดแย้งต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงในระยะยาว และยังทำให้ไบเดนดูอ่อนแอก่อนการเลือกตั้งกลางเทอม ขณะที่รัสเซียนั้นได้ประโยนช์จากราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้น ซึ่งเป็นน้ำเลี้ยงให้กับรัสเซียในการรับมือกับการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก


การตัดสินใจของโอเปกยังมีขึ้นหนึ่งวันหลังสหภาพยุโรปเห็นพ้องที่จะคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ ซึ่งรวมถึงการกำหนดเพดารราคาการขายน้ำมันรัสเซีย และแบนการนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียทั้งหมด ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า


ด้านผู้เชี่ยวชาญ มองเรื่องนี้แตกต่างกัน เช่น เบน แมควิลเลียมส์ ที่ปรึกษาด้านพลังงานจากองค์กร Bruegel มองว่า มีความเกี่ยวกับพันในสองเหตุการณ์นี้ และมีการเมืองเกี่ยวข้องในการตัดสินใจของโอเปก เพราะราคาน้ำมันดิบที่อยู่เหนือ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นอัตราที่สูงมากสำหรับช่วงเวลาปกติ และจะต้องมีเสียงเรียกร้องให้เข้าแทรกแซงราคาน้ำมันแล้ว เพราะฉะนั้นชัดเจนว่า โอเปกนั้นเอียงไปทางรัสเซีย


อย่างไรก็ตาม มีผู้เห็นค้านเช่นกัน โดย ดีนา เอสฟานไดอารี ที่ปรึกษาอาวุโสของ International Crisis Group สำหรับตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ มองว่า ไม่ยุติธรรมที่จะกล่าวหาว่าโอเปกเข้าข้างรัสเซีย พวกเขาแค่เลือกข้างตนเอง


แต่แน่นอนว่า การตัดสินใจของนี้ของโอเปก ประหนึ่งเป็นการตบหน้ารัฐบาลไบเดนที่ล้มเหลวในการทางทูต และยังส่งสัญญาณว่า อิทธิพลของสหรัฐฯ ต่อชาติอ่าวอาหรับนั้นกำลังจืดจางลง 


ทั้งนี้ ไบเดนเดินทางไปเยือนซาอุดิอาระเบีย และได้หารือกับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ด้วยตนเออในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา


เอสฟานไอดารี มองว่า นี่คือยุคใหม่ที่ชาติอ่าวอาหรับกำลังตัดสินใจด้วยตนเอง แม้สหรัฐฯ จะเป็นผู้รับประกันด้านความมั่นคงให้กับตะวันออกกลาง แต่พวกเขาก็ไม่ได้ฟังในสิ่งที่สหรัฐฯ ร้องขอไปหมดทุกเรื่องแล้ว

—————

แปล-เรียบเรียงธันย์ชนก จงยศยิ่ง 

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

1, 2



ข่าวที่เกี่ยวข้อง