รีเซต

ฤดูฝนต้องระวัง "เห็ดพิษ" เก็บไปทานโดยไม่รู้ อันตรายถึงชีวิต!

ฤดูฝนต้องระวัง "เห็ดพิษ" เก็บไปทานโดยไม่รู้ อันตรายถึงชีวิต!
TNN ช่อง16
22 พฤษภาคม 2566 ( 09:27 )
132

เตือน "เห็ดพิษ" ช่วงฤดูฝนต้องระวัง ถ้าทานผิดโดยไม่ระวัง อันตรายถึงชีวิต แนะวิธีสังเกตเพื่อความปลอดภัย


ไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ โดยสภาพแวดล้อมในช่วงฤดูฝน เหมาะกับการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของเห็ด ทำให้มีผู้คนบางพื้นที่นิยมเก็บเห็ดไปรับประทาน


ล่าสุดโรงพยาบาลน่าน จังหวัดน่าน ได้แจ้งว่า พบผู้ป่วยแล้ว 2 รายจากเห็ดพิษ โดยงานป้องกันควบคุมโรคและระบาดวิทยา รพ.น่าน แจ้งว่า มีผู้ป่วยได้รับพิษจากการรับประทานเห็ดพิษเข้ารับการรักษาที่ รพ.น่าน จำนวน 2 ราย เป็นชาวบ้าน ต.สะเนียน อ.เมืองน่าน โดยผู้ป่วยได้แจ้งว่า รับประทานผัดเห็ดขี้ควายเป็นมื้ออาหารกลางวัน หลังจากนั้นตอนเย็นผู้ป่วยมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว มากกว่า 10 ครั้งจึงนำส่งการรักษามายัง รพ.น่าน


รพ.น่าน จึงขอแจ้งพี่น้องประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวัง ตามข้อเสนอแนะเพื่อความปลอดภัย ดังนี้


1. ระมัดระวัง การนำเห็ดมาประกอบอาหาร หากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก ไม่ทราบชนิดแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ไม่ควรนำมาบริโภคโดยเด็ดขาดโดยเฉพาะ เห็ดป่า หรือ เห็ดที่เราไม่รู้จักไม่คุ้นเคย ควรบริโภคเห็ดที่เรารู้จัก แน่ใจ หรือเห็ดที่เพาะได้ทั่วไป


2.จดจำเห็ดพิษที่สำคัญ ซึ่งมีพิษรุนแรงถึงตายได้ แล้วหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดพิษ โดยเห็ดขี้ควาย มีลักษณะเป็นหมวกรูปกระทะคว่ำแล้วแบนลง ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวก มีสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็กๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก ขอบมีริ้วสิ้นๆโดยรอบ ครีบน้ำตาลดำ ส่วนกลางกว้างกว่า ปลายทั้งสองข้าง ไม่่ยึดติดกับก้าน ชอบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 4-5 ดอก บนพื้นดินที่มีมูลสัตว์พวกมูลวัว

มูลควายแห้ง


ภาพจาก โรงพยาบาลน่าน จังหวัดน่าน

 



สำหรับเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค เช่น

1) เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้ แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน

2) เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม

3) เห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า

4) เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้ เป็นต้น



ภาพจาก กรมควบคุมโรค

 


ภาพจาก โรงพยาบาลน่าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง