เตรียมรับมือ โรคและภัยสุขภาพในหน้าหนาว
จากพยากรณ์อากาศกำหนดให้วันที่ 2 พ.ย. เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มรูปแบบ ต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือน ก.พ. 2565 รวมเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยในปีนี้จะมีอากาศหนาวเย็นใกล้เคียงกับปีที่ผ่าน แต่สิ่งหนึ่งที่มักมาพร้อมฤดูหนาวด้วยนั่นคือ เชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ที่มาพร้อมกับฤดูหนาวที่จะมาถึง จะมีโรคอะไรบ้าง มีวิธีป้องกัน และระมัดระวังอย่างไรเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ วันนี้ TrueID ได้นำข้อมูลมาให้แล้ว
กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
1.โรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี พบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว อัตราการเสียชีวิตมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
2.โรคปอดอักเสบ พบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ ติดต่อจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อผ่านการไอ จาม แล้วนำมาสัมผัสที่จมูก ตา หรือปาก ทั้งสองโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องคลุกคลีกับผู้อื่น
กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่
โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ 3ครั้งขึ้นไปต่อวัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย ป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย เลือกรับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย ดื่มน้ำที่สะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด อาหารค้างมื้อควรเก็บในตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนทุกครั้งก่อนรับประทาน
กลุ่มที่ 3.โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว ได้แก่
1.โรคหัด เกิดจากการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป อาการจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา และจะมีไข้สูง ตาแดงก่ำ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นขึ้นลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนเข็มแรกตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มสองตอนอายุ 2 ปีครึ่ง
2.โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส หรืออุจจาระของผู้ป่วย อาการคือ จะมีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม มีผื่นแดงหรือตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายเองได้ ในการป้องกัน ผู้ปกครองและครูควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลาน สถานศึกษาตรวจคัดกรองเด็กทุกคนก่อนเข้าเรียน หากพบอาการสงสัยว่าป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที รีบพาไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
ส่วนกลุ่มที่ 4 ภัยสุขภาพ ได้แก่
1.การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว และ2.ขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษ โดย
1.การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว นิยามคือ การเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุที่เกิดขึ้นในหรือนอกที่พักอาศัย เช่น บ้าน อาคาร สถานที่สาธารณะ โดยไม่ได้มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องห่มกันหนาวที่เพียงพอในพื้นที่อากาศหนาว และคาดว่าเกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว
กรมควบคุมโรค ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ในช่วงฤดูหนาวตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม 2562 - 29 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่ามีผู้ป่วยเข้านิยามเฝ้าระวังฯ 37 ราย เสียชีวิตภายในบ้าน 25 ราย และนอกบ้าน 12 ราย (นอนบนเตียงไม้หน้าบ้าน นอนในเปล นอนในเรือ)
โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่มีผ้าห่มหรือสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่ไม่เพียงพอ รองลงมาคือ มีโรคประจำตัว และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ ตามลำดับ สำหรับการป้องกัน ควรเตรียมความพร้อมร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลสุขภาพแก่บุคคลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ให้สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอและอยู่อาศัยในที่อบอุ่น งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รักษาความสะอาด ล้างมือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมถึงไม่ห่มผ้าหรือสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น
2.การขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นร่างกาย ซึ่งฤดูหนาวจะมีประชาชนท่องเที่ยวตามภูเขาและยอดดอย และพักผ่อนในเต็นท์ โรงแรม หรือรีสอร์ต โดยเรื่องที่น่าห่วงคืออาจได้รับพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) คาร์บอนมอนนอกไซด์(CO) จากการใช้อุปกรณ์เพิ่มความอบอุ่น เช่น ตะเกียง เตาอั้งโล่ และเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส
โดยระบบเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ ทำให้ก๊าซสะสมของในปริมาณมากจนอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน ข้อมูลปี 2562 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังเหตุการณ์การป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส พบว่ามีรายงาน 4 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 5 ราย และเสียชีวิต 1 ราย
ภาพโดย Daniel Park จาก Pixabay
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :