รีเซต

แบงก์ชาติ อัพเดต ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย

แบงก์ชาติ อัพเดต ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย
มติชน
24 สิงหาคม 2565 ( 09:22 )
82
แบงก์ชาติ อัพเดต ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย

หมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัด Media briefing “ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” ณ โถงหน้าห้องภัทรรวมใจ อาคาร 2 ชั้น 2 ธปท. โดยมี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเปิดงาน และคุณรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ร่วมเสวนา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ดังนี้

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ผู้ว่าการ ธปท.

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า แนวนโยบาย Financial Landscape เพื่อสื่อสารมุมมองและทิศทางนโยบายของ ธปท.ในการพัฒนาภาคการเงินไทย ภายใต้กระแสโลกใหม่อย่างดิจิทัลและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้เปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคการเงิน เพื่อนำมาประกอบการกำหนดทิศทางของภาคการเงิน

นับจากวันที่ได้เผยแพร่แนวนโยบาย Financial Landscape ธปท.ได้ทยอยออกมุมมองต่อแนวนโยบายแต่ละด้านในรายละเอียด เพื่อเพิ่มความชัดเจนในสิ่งที่ ธปท. อยากเห็นและไม่อยากเห็น รวมถึงความเชื่อมโยงต่อแนวทางการพัฒนาภาคการเงินในระยะข้างหน้า เริ่มจากแนวนโยบายด้านดิจิทัลที่เน้นสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมกับการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เช่น การอนุญาตให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงแนวนโยบายด้านการกำกับดูแลให้เท่าทันความเสี่ยงใหม่ เช่น การกำกับธุรกิจให้เช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค และดูแลการก่อหนี้ของครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชน

ในวันนี้ ธปท. จะนำเสนอแนวนโยบายอีกด้านที่สำคัญ คือ บทบาทของภาคการเงินในการสนับสนุนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะไทยมีความเสี่ยงสูง เห็นได้จากแรงงานกว่า 1 ใน 3 ของไทยอยู่ในภาคเกษตรที่จะถูกกระทบจาก climate change ซึ่งไทยติดอันดับ 9 ของประเทศทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับผลกระทบด้านนี้ ตามดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index ในปี 2021 อีกทั้งการผลิตกว่า 13% ของ GDP ในภาคอุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในโลกเก่า และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป

สำหรับไทยยังมีบางจุดที่ปรับตัวในเรื่องนี้ช้ากว่าประเทศอื่น เห็นได้จากความสามารถในการรับมือภัยธรรมชาติของไทยยังอยู่อันดับ 39 จาก 48 ประเทศ และแม้ธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวไปแล้ว โดยบริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิกดัชนี DJSI หรือ Dow Jones Sustainability Index ถึง 24 บริษัท ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ SMEs ที่มีสายป่านสั้น ยังปรับตัวได้ยาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่อยู่ในซัพพลายเชนของธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะจะเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันให้ปรับตัวก่อน

ในการช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยง ภาคการเงินจึงมีบทบาทสำคัญ เพราะมีหน้าที่จัดสรรเงินทุนให้แก่ภาคเศรษฐกิจ และสามารถจูงใจให้เกิดการปรับตัว อีกทั้งภาคการเงินเองยังมีส่วนได้ส่วนเสียจากการเปิดเผยกับลูกหนี้ธุรกิจและครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งในการทำหน้าที่ของภาคการเงินเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยสร้างผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด จะต้องสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการปรับตัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยการดำเนินการต้องไม่เร็วเกินไป จนภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน แต่ก็ต้องไม่ช้าเกินไป จนผลกระทบลุกลามและแก้ไขได้ยาก ดังนั้น จังหวะเวลาหรือไทม์มิ่งและความเร็วหรือความเร่งของการดำเนินการจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศและแต่ละภาคส่วน

ธปท.จึงได้จัดทำแนวนโยบายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสื่อสารทิศทางการดำเนินงานที่ ธปท. จะผลักดันในอนาคต เพื่อสนับสนุนให้ภาคการเงินพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถตอบโจทย์การปรับตัวของภาคส่วนต่างๆ ได้ดีขึ้น รวมถึงกรอบเวลาและขั้นตอนการขับเคลื่อน เพื่อช่วยให้ภาคส่วนอื่นๆ สามารถวางแผนและดำเนินการให้สอดคล้องกัน

อย่างไรก็ตาม ภาคการเงินจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การจะขับเคลื่อนให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดผลสัมฤทธิ์ ต้องอาศัยทุกภาคส่วน โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานในระดับประเทศภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน ส่วนภาคธุรกิจต้องประเมินผลกระทบและปรับตัวให้ทันการณ์ โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อที่จะสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ ขณะที่ประชาชนต้องตระหนักถึงผลกระทบ และทยอยปรับการใช้ชีวิต ทั้งหมดนี้จะช่วยให้การก้าวไปสู่เป้าหมายของประเทศทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เป็นไปอย่างราบรื่น

รุ่ง มัลลิกะมาส
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.

ธปท.ได้ออกแบบแผนดำเนินงานทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย โดยการวางรากฐานสำคัญ 5 ด้าน อาทิ 1.ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน เพื่อให้มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ (Products and Services) โดยจะออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 เพื่อให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน และการสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจผ่านธุรกรรมการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่สามารถรองรับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้อย่างตรงจุด

2.จัดทำมาตรฐานกลางที่กำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน โดยเริ่มจากการจัดกลุ่มกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจหลักที่มีปริมาณการปล่อยก๊าชเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูงอาทิ ภาคพลังงานและภาคการส่งออก ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2566 เพื่อให้แต่ละภาคส่วนนำไปใช้อ้างอิงและช่วยประเมินสถานะการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของตนได้

3.ร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมและมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Data and Disclosure) โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงินในการพัฒนาฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบตั้งแต่ไตรมาสที่4/2565 เป็นต้นไป เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ หรือการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงตัดสินใจลงทุนหรือเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

4.สนับสนุนการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม (Incentive) เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงิน ภาคธุรกิจและผู้บริโภคเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งล่าสุด ธปท.ได้นำร่องโดยการออกมาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟู เพื่อสนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เหมาะสมแก่เอสเอ็มอีในการส่งเสริมศักยภาพธุรกิจ ซึ่งมิติด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในรูปแบบการปรับตัวที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันภายใต้กระแสบริบทโลกใหม่

5.ยกระดับองค์ความรู้และความชำนาญของบุคลากรในภาคการเงิน (Capacity Building) โดยพัฒนาหลักสูตรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ สามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และให้คำแนะนำแก่ภาคธุรกิจได้อย่างเหมาะสม

โดยภายหลังจาก ธปท.กำหนดนิยามเพื่อเป็นเงื่อนไขที่ธนาคารต้องใช้ร่วมกัน ซึ่งจะเริ่มจากการจัดกลุ่มกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจหลักที่มีปริมาณการปล่อยก๊าชเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง อาทิ ภาคพลังงานและภาคการส่งออก ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2566 จากนั้น ธปท.กำหนดให้ธนาคารส่งแผนการดำเนินงาน และแนวนโยบายที่กำหนดกลยุทธ์ชัดเจน รวมถึงธนาคารต้องเปิดเผยข้อมูลเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ และแนวทางการนำไปใช้สำหรับผู้กู้ว่าตรงตามเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อหรือไม่ ซึ่งธนาคารต้องรายงานข้อมูลสินเชื่อ และการติดตามการดำเนินงานทุกปี

ขณะเดียวกัน ธปท.ได้กำหนดให้ธนาคารต่างๆ รายงานกลยุทธ์และเป้าหมายของการปล่อยสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม สำหรับการกำหนดผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินนโยบายเพื่อออกสินเชื่อ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาจมีความแตกต่างกัน เช่น สินเชื่อเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือสินเชื่อกรีนโลน โดยการดำเนินแนวทาง ธปท.ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์เหมือนกันทุกธนาคาร แต่ต้องออกสินเชื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน

สำหรับผลลัพธ์ที่คาดหวัง ธปท.จะมีการทำงานที่เร็วขึ้น ต้องมีการทำงานใกล้ชิดกับสถาบันการเงินต่างๆ อีกทั้งทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงกระบวนการทำงานภายในมีการปรับตัวมากขึ้น เพื่อคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยการตั้งคณะทำงานเพื่อการขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยคาดว่าทุกภาคส่วนเข้าใจและสามารถระบุกิจกรรมสีเขียวได้มีมาตรฐานสอดคล้องกันและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเพียงพอ สำหรับภาครัฐ จะสามารถดำเนินนโยบายได้ตรงจุด และเชื่อมโยงทุกภาคส่วนได้ดี โดยมีนิยามกิจกรรมสีเขียว และระบบฐานข้อมูลที่ช่วยสนับสนุน สำหรับสถาบันการเงิน ได้รับความเชื่อมั่น มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์การปรับตัวของภาคธุรกิจด้วยราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนและความเสี่ยง

ในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่ สามารถแข่งขันได้มากขึ้นด้วยธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสามารถปรับตัวได้ตามมาตรฐาน อีกทั้งภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวด้วยต้นทุนที่ไม่เป็นภาระจนเกินไป สามารถอยู่รอดได้ในระบบเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงผู้บริโภค/นักลงทุน มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่มีมาตรฐาน เพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุนเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนให้ภาคส่วนทางเศรษฐกิจสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันการณ์และไม่ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง ต้องอาศัยการผลักดันและดำเนินการร่วมกันอย่างบูรณาการ จากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน โดย ธปท.พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง