รีเซต

ผู้ว่าธปท.คนใหม่ชูธง5วิสัยทัศน์ ขอเป็น‘กองหลังเศรษฐกิจไทย’

ผู้ว่าธปท.คนใหม่ชูธง5วิสัยทัศน์ ขอเป็น‘กองหลังเศรษฐกิจไทย’
ข่าวสด
25 ตุลาคม 2563 ( 00:01 )
92

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้โอกาสขึ้นดำรงตำแหน่ง ควงไมค์พูดคุยเปิดอกกับสื่อมวลชนหลังรับตำแหน่ง ‘ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)’ คนใหม่ ถึงเส้นทาง 5 ปีจากนี้

 

ในวิกฤตเศรษฐกิจกับพิษโควิด-19

 

ที่ต้องรับมือในระยะสั้น รวมถึงการกำกับดูแลใช้นโยบายการเงินเพื่อเป็นแรงสนับสนุนส่งต่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระยะต่อไป ยังคงเป็นปัจจัยท้าทายของผู้ว่าการธปท.คนใหม่

นายเศรษฐพุฒิ โชว์วิสัยทัศน์ ปักธงโจทย์ใหญ่ ที่ขมวดกลุ่มงานของ ธปท. ที่ยอมรับว่ามี ‘หน้างาน’ ที่กว้างมาก ออกมาเหลือ 5 โจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการ ในช่วงกุมบังเหียนผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

 

1.เร่งแก้วิกฤตหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจพ้นวิกฤตโควิด-19 และฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และรายย่อย ซึ่งเรื่องสำคัญคือ การดูแลสภาพคล่อง และการปรับโครงสร้างหนี้

2.การรักษาเสถียรภาพระบบการเงินให้เข้มแข็งเพียงพอ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบสถาบันการเงินจะมีความสามารถเพียงพอในการทำหน้าที่ของตัวเองในการหล่อเลี้ยงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและเดินหน้าต่อไปได้

3.การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างเศรษฐกิจและการเงินไทยสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และระยะต่อไปได้ดี

 

คือ 3 งานหลัก ที่ห้ามตกหล่น บกพร่อง และต้องเอาให้อยู่ตามสไตล์แบงก์ชาติ

 

ส่วนโจทย์ที่ 4.การสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนให้ ธปท.เป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นมากที่สุด เป็นโจทย์สำคัญ ถ้าการแก้ปัญหาด้วยการออกมาตรการต่างๆ แล้วมีคำถามตามมา จะทำให้การทำงานของ ธปท.ลำบากมากๆ

 

หน้าที่ของ ธปท.คือต้องดูภาพรวม ต้องสร้างความมั่นใจผ่านการสื่อสารให้คนเข้าใจในภาพรวมให้ได้ ด้วยชื่อของเราคือ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” นั่นหมายถึงเราต้องดูทั้งประเทศ

 

“ผมได้แนวทางการสื่อสารกระบวนการทำงานของ ธปท.ใหม่ นั่นคือ “คิดรอบ ตอบได้” สะท้อนว่าเวลาจะทำอะไรต้องคิด คิดให้รอบคอบ คิดให้เยอะ คิดให้มาก จนนำมาสู่การ “ตอบได้” เพราะเมื่อคิดมาดีแล้ว ก็ต้องตอบทุกคน จากทุกคำถามได้เช่นกัน”

 

และ 5.พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้ ธปท.เป็นองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ และสร้างความยั่งยืนให้กับ เศรษฐกิจและสังคมไทย ที่ผ่านมาผลลัพธ์ของงานอาจจะยังไม่โดดเด่น เพราะหลายอย่างยังติดเรื่องภายใน ทั้งโครงสร้าง และกระบวนการทำงานขององค์กรซึ่งอาจทำให้การทำงานไม่คล่องตัว ก็อาจจำเป็นต้องมีการปรับให้มีประสิทธิภาพ

 

ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งวิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อมๆ กันในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่ต้องล็อกดาวน์จนมีผลกระทบจำนวนมาก

 

“ปัญหาครั้งนี้หนักและนาน แต่ท้ายที่สุดก็ยังเชื่อว่าทุกฝ่ายจะแก้ปัญหาไปได้ แต่ต้องใช้เวลา เป็นวิกฤตปัญหาที่คนทำนโยบายด้านเศรษฐกิจไม่เคยเจอมาก่อน”

 

ดังนั้นการทำมาตรการใดๆ เพื่อดูแลเศรษฐกิจจากนี้จะเน้น “ความยืดหยุ่นสูง” ในการดำเนินการแก้ปัญหานั่นหมายถึงวิธีการดำเนินการต่างๆ ที่ออกมาต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

 

เพราะบริบทของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ คือ

 

1.การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมา (Uneven) ทั้งในมิติของสาขาเศรษฐกิจ มิติเชิงพื้นที่ และขนาดของเศรษฐกิจ

2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะใช้เวลานาน (Long) ไม่น้อยกว่า 2 ปีในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างสินค้าและตลาดส่งออกของไทยกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า และ 3.ยังมีความไม่แน่นอนสูง (Uncertain)

ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม จากการออกมาตรการในการช่วยเหลือในลักษณะ “ปูพรม เหมาเข่ง” เน้นช่วยเหลือให้ทั่วถึง มาเป็น “การช่วยเหลือแบบตรงจุด (Targeted) ครบวงจร (Comprehensive) และยืดหยุ่น (Flexible)” โดยต้องพิจารณาถึงผลข้างเคียง เพราะมีทรัพยากรจำกัด จึงต้องใช้ให้ถูกจุด

 

“การออกมาตรการช่วยเหลือหลังจากนี้ จะต้องมองไปข้างหน้า ต้องมองยาว เพราะโจทย์ไม่ใช่แค่ว่า ธปท. ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเหลือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องคิดโดยมองไปข้างหน้าอย่างน้อย 2 ปี นั่นเพราะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ต้องใช้เวลานาน ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดีว่าเครื่องมือที่จะรองรับระยะเวลาในการแก้ปัญหา 2 ปีมีอะไรบ้าง”

 

สําหรับทิศทางเศรษฐกิจ นายเศรษฐพุฒิมองว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงติดลบต่อเนื่องในไตรมาส 4/2563 ไปถึงต้นปี 2564 ก่อนจะพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกราวในไตรมาส 2/2564 แต่คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับคืนมาเหมือนเดิมช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในราวไตรมาส 3/2565 และคาดว่าเศรษฐกิจปี 2563 จะติดลบ -7.8% ถึง -8%

 

ส่วนการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนว่า เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารและทำความเข้าใจ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินไปในทิศทางใดนั้น ย่อมมีทั้งผู้ได้รับผลประโยชน์ และได้รับผลกระทบ ดังนั้น การตัดสินใจเรื่องการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจะต้องดูถึงสาเหตุและปัจจัยรอบด้าน

 

“มีการพูดถึงว่านโยบายการเงินมาถึงทางตันในการช่วยดูแลปัญหาเศรษฐกิจของประเทศหรือยังนั้น ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนอกจากจะอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ยังถือว่าต่ำสุดในภูมิภาคด้วย จึงทำให้มีข้อจำกัด ดังนั้นเห็นว่าในช่วงนี้บทบาทของมาตรการทางการคลังคงจะต้องเป็นหลักหรือเป็นพระเอกในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ การจะให้มาตรการการเงินเป็นตัวขับเคลื่อน หรือเป็นตัว drive คงเป็นไปไม่ได้”

 

มาตรการเพิ่มเติมที่จะนำออกมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ต้องใช้เวลาและอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อให้มาตรการที่จะออกมานี้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ไม่ได้เป็นมาตรการที่เร่งด่วนที่ต้องรีบออกมา ยาที่จะออกมากำลังดูอยู่ ต้องใช้เวลา ไม่อยากทำอะไรออกมาเหมือนสักแต่คลอดมาตรการเป็นสีสัน อยาก Make sure ว่ายาที่ออกมาจะเหมาะสม กำลังดูอยู่ แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีความเร่งด่วน

 

ผู้ว่าการแบงก์ชาติระบุอีกว่า

“ถ้าเปรียบกับทีมฟุตบอลแล้ว นโยบายการเงินไม่ใช่กองหน้า แต่เราเป็นกองหลัง ซึ่งมีความสำคัญมาก แต่เราก็มีข้อจำกัด เพราะทีมฟุตบอลถ้ากองหลังไม่แข็ง เตะอย่างไรก็แพ้ เราต้องเมกชัวร์ในเรื่องต่างๆ แต่จะให้ทีมชนะเพราะกองหลังก็คงไม่ใช่อีก มันต้องมีการประสานกัน และอาศัย เครื่องมืออื่นๆ มาช่วยด้วยในยามนี้ คงไม่เฉพาะไทยเองแต่ประเทศอื่นๆ ก็คงเช่นกัน”

 

พรเทพ อินพรหม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง