รีเซต

ย้อนดูเกณฑ์ 'จ่ายตอบแทน' หมอ-พยาบาล' สู้โควิด-19

ย้อนดูเกณฑ์ 'จ่ายตอบแทน' หมอ-พยาบาล' สู้โควิด-19
TeaC
21 กรกฎาคม 2564 ( 18:24 )
578

ทุกอาชีพเมื่อทำงานแล้วต่างอยากได้รับ "ค่าตอบแทน" โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้ โรคโควิดระบาดทำให้ยอดผู้ติดเชื้อไต่ขึ้นสูงถึงหลักหมื่น แถมมีหลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว หากคนไทยทั้งประเทศไม่ร่วมด้วยช่วยกันฝ่าวิกฤตโควิดในครั้งนี้ เพราะไม่ได้ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่เราอาจขาดบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล อีกด้วย

 

เนื่องจากทุกวันนี้จำนวนแพทย์ พยาบาลที่ทำการดูแล รักษาผู้ป่วย ไม่เพียงพอ สาเหตุมาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นปัญหาประชาชนปกปิดไทม์ไลน์ ไม่บอกว่าติดเชื้อ มาตรการในการคุมเข้มทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนอาจเป็นไปได้ที่เกิดความละหลวม ไปจนถึงประชาชนบางกลุ่มยังใช้ชีวิตประจำวันที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ล้างมือ ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม และไปพื้นที่เสี่ยง แหกกฎระเบียบต่าง ๆ ผลลัพธ์ที่ตามมานั่นคือ โควิดแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว

 

ยกตัวอย่าง บางกลุ่มคนตั้งวงกินเหล้า เล่นไพ่ ทั้ง ๆ ที่มีมาตรการห้ามรวมกลุ่มกัน เมื่อบางคนการ์ดตกกลายเป็นเป็นของโปรดของโควิด ทำให้เกิดการแพร่เชื้อจากคนกลุ่ม 20 คน ส่งต่อเชื้อไปยังคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่ทุกคนต่างรับรู้ดีว่า "หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์" ยิ่งต้องทำงานหนักมากกว่าหลายเท่า รวมทั้งเสี่ยงต่อการรับเชื้อโควิดและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุด หากนับลำดับขั้นการแข่งกีฬา หมอ พยาบาล ติดอันดับ 1 ในการติดเชื้อโควิดที่แสนจะรวดเร็วกว่าอาชีพอื่น ๆ 

 

ดังนั้น เมื่ออาชีพหมอ พยาบาล มีความเสี่ยงภัยตั้งแต่การดูแลไปจนถึงมีโอกาสเสียชีวิตด้วยเช่นกัน แล้วเคยสงสัยหรือไม่? ในสถานการณ์ที่การระบาดของเชื้อโควิด-19 ค่าตอบแทนที่หมอและพยาบาลได้รับนั้น มีอะไรบ้าง?

 

ย้อนดูหลักเกณฑ์ จ่ายค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัย หมอ-พยาบาล สู้โควิด-19

 

จากการค้นหาความหมายของค่าตอบแทนในระบบราชการ "ค่าตอบแทน" (Compensation) คือ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่องค์การจ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจะจ่ายในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็นตัวเงินหรือไม่เป็นตัวเงินก็ได้ เพื่อตอบแทนการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบ จูงใจให้มีการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพส่งเสริมขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน และเสริมสร้างฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวผู้ปฏิบัติงานให้ดีขึ้น

 

ลองมาย้อนดูค่าตอบแทนของกลุ่มหมอ พยาบาล ที่ต้องปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด ซึ่งเป็นการทำงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อชีวิต โดยข้อมูลจาก กองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงประกาศหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) (ว 66) โดยมีข้อปฏิบัติ ดังนี้

 

อัตราค่าเสี่ยงภัยสู้โควิดมีอะไรบ้าง?

 

1. ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้แก่ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว และลูกจ้างเหมาบริการของกระทรวงสารธารณสุข หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นของหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

 

  • แพทย์และสัตวแพทย์ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัด สธ. และนอกสังกัด สธ. สถานพยาบาลเทศบาลและท้องถิ่นผลัดละ 1,500 บาทต่อคน

 

  • ส่วนพยาบาล นักวิชาการด้านการสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีการแพทย์ เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัด สธ., หน่วยงานนอกสังกัด สธ. สถานพยาบาล เทศบาลและท้องถิ่นได้รับค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาทต่อคน โดยการปฏิบัติงานต้องมีลักษณะเป็นเวรเป็นผลัด ผลัดละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง

 


2. ค่าตอบแทนการประชุมครั้งละ 1,000 บาทต่อคน

 

สำหรับบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่ง สธ.

 

3. ค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย

 

เมื่อตรวจพบเชื้อโควิด-19 และผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค โดยคนต่างชาติที่ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลให้เบิกตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ส่วนคนต่างชาติและคนไทยที่มีสิทธิเบิกสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว ให้เบิกได้เฉพาะในส่วนที่เกินจากสิทธิ

 

เบิกจ่ายค่าตอบแทน มีหลักเกณฑ์ ขั้นตอนอย่างไร? 

 

สำหรับการเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยนั้น จะแบ่งตามการปฏิบัติงาน 5 ลักษณะ โดยแต่ละหน่วยงานจะเป็นผู้เบิก มีรายละเอียดดังนี้

 

1. ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ณ ด่านควบคุมโรค 

 

ด่านควบคุมโรค ได้แก่ 

1. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (สนามบิน ด่านท่าเรือ และด่านพรมแดน)
2. ด่านสนามบินภายในประเทสที่ได้รับคำสั่งให้คัดกรองผู้เดินทาง 
3. ด่านผ่อนปรน ด่านธรรมชาติชายแดนประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด

 

หน่วยงานผู้เบิก

1. ผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ณ ด่านควบคุมโรค ให้เบิกค่าตอบแทนเสี่ยงภัย ดังนี้

 

  • ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ส่วนกลาง ให้เบิกจ่ายจากกรมควบคุมโรค
  • ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ส่วนภูมิภาคสังกัดกรมควบคุมโรค ให้เบิกจ่ายจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค
  • ด่านผ่อนปรน ด่านธรรมชาตืชายแดนประเทศไทย ให้เบิกจ่ายจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

 

2. ผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ณ ด่านสนามบินภภายในประเทศในส่วนภูมิภาค ให้เบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจากหน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

 

3. ผู้ปฎิบัติงานของหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เบิกจ่ายจากกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

หมายเหตุ  การนับเวลาการปฏิบัติงาน เพื่อเบิกค่าตอบแทนให้นับเฉพาะระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ (ไม่รวมเวลาการเดินทาง)

 

2. ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวนโรคในพื้นที่ ที่มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา และการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

 

ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ในพื้นที่ หมายถึง การสอบสวนโรคผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ผู้ป่วยยืนยัน (Confirmed case) การติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก โดยการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกดังกล่าวจะต้องได้รับคำสั่ง อนุมัติ สั่งการ จากผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

 

หน่วยงานผู้เบิก


1. ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดสาธารณสุข ให้เบิกจ่ายจากหน่วยงานสังกัด

2. ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดงานกระทรวงสารธารณสุขในส่วนภูมิภาค ให้เบิกจ่ายจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

3. ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสารธารณสุข ให้เบิกจ่ายจากกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

3. ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการตรวจวินิจฉัย การตรวจยืนยันตัวอย่าง สิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย ผู้สัมผัสและผู้มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทางห้องปฏิบัติการ

 

โดยผู้มีสิทธิเบิก ได้แก่ ผู้ที่ได่รับคำสั่งหรือมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตรวจวินิจฉัย ตรวจยืนยันตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย และผู้มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทางห้องปฏิบัติการ

 

หน่วยงานผู้เบิก


1. ผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เบิกจ่ายค่าตแบปทนเสี่ยงภัยจากต้นสังกัด

2. ผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการอื่นที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เบิกค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจากกองบริหารการคลัง สำนักงานผลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

4. ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยงานในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและการดูแลผู้สัมผัสในสถานพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และสถานที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักตัวผู้ป่วย 

 

คลิกนิกระบบทางเดินหายใจ (ARI) คลินิกฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (ER) แผนกผู้ป่วยนอก (OPD) หอผู้ป่วยโควิด-19 และจุดคัดกรอง ให้เจ้าหน้าที่เบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยได้เฉพาะเวรที่พบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค  (PIU) และผู้ป่วยยืนยัน (Comfirmed case) 

 

ผู้มีสิทธิได้เบิก ได้แก่ ผู้ที่ได้รับคำสั่งหรือมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ปฏิบัติงานในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและการดูแลผู้สัมผัสในสถานพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และสถานที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันผู้ป่วย

 

หน่วยงานผู้เบิก

1. ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เบิกจ่ายจากหน่วยงานต้นสังกัด

2. ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค ให้เบิกจ่ายจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

3. ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เบิกจ่ายจากกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

หมายเหตุ ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามที่บริหารโดยรมการแพทย์ กรมอนามัย หรือกรมอื่น ๆ ให้เบิกจ่ายจากกรมที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามนั้น ๆ

 

5. ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยงานคัดกรอง ติดตาม เฝ้าระวัง ณ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ

 

ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ ได้แก่ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ ณ ท่าอากาศยานสุวรรภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง

 

หน่วยงานผู้เบิก


ผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานในการติดตาม เฝ้าระวังผู้ป่วย และผู้ติดตาม ญาติ ชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ณ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ ให้เบิกจ่ายจากกลุ่มคลัง สำนักงานเลขานุการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

 

คุ้มไหม? กับความเสี่ยงภัยสู้โควิด

 

จากข้อมูลข้างต้น คำถามต่อมา "คุ้มไหม? กับความเสี่ยงภัยสู้โควิด" เนื่องจากเรื่องค่าตอบแทนเสี่ยงภัยดังกล่าว มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยอย่างเร่งด่วน หลังมีปัญหาการเบิกจ่าย หรือค้างค่าเบิกจ่ายค่าตอบแทน ส่งผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก เช่น เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ขอ #เบี้ยเสี่ยงภัย เพื่อเป็นกำลังใจให้กับ #ฮีโร่ตัวจริง ของประชาชน โดยสรุปรายละเอียดมาให้แล้ว

 

1) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทุกสาขาวิชาชีพ


– เร่งจ่าย”เบี้ยเสี่ยงภัย” ที่ค้างท่อของเก่าที่ยังจ่ายให้ไม่ครบ ตั้งแต่การระบาด 2 รอบแรก
- ให้”เพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัย”ในรอบนี้ เพราะทุกท่านทำงานหนักมาก ๆ และความเสี่ยงสูงมาก
– พิจารณาความดีความชอบให้ทุกท่านเป็นพิเศษในปีนี้


“เราเพิ่มเตียงได้ แต่บุคลากรเพิ่มไม่ได้นะคะ ดังนั้นต้องดูแล #หัวใจ ของเขาดี ๆ”

2) สำหรับ”อาสาสมัครประชาชน” หรือ อสม. อสส. อปพร. ประธานและกรรมการชุมชน และ”อาสาสมัครของมูลนิธิ” ต่าง ๆ รัฐควรดูแล และตอบแทนความเสียสละของเขาเหล่านี้ด้วยการอนุมัติเงินตอบแทน”ค่าเสี่ยงภัย”เป็นพิเศษ ให้กับทุกท่านที่ปฎิบัติงานช่วยกู้วิกฤตโควิดในครั้งนี้ด้วย

ฯลฯ

 

และล่าสุด พล.อ.ท. อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความว่า ขอรายงานสายตรงของน้องหมอเมด ที่ไปช่วยงานโรงพยาบาลสนามบุษราคัม ต่อจากสัปดาห์ก่อนครับ ข้อมูล ณ วันที่ 19/07/2564 ยอดเตียงรวม 3,700 เตียง โดยมีช่วงที่กล่าวถึงเรื่องค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด่านหน้า ดังนี้

 

ค่าตอบแทน : มีการประชุมในวันที่อาจารย์โพสต์ใน FB คืนนั้นเลยครับ และมีประกาศแจ้งมาอีกประปราย โดยสรุปว่า

 

- ค่าเสี่ยงภัยได้ทุกเวร แต่ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าได้เมื่อไหร่

- ค่า OT : ให้เบิกจากจำนวนเวรที่อยู่ทั้งหมด ที่อยู่เกินจากเวลาราชการ โดยครั้งแรกแจ้งว่าได้ 750 บาทต่อ 8 ชั่วโมง แต่มีคนไปดูระเบียบมาว่าจริง ๆ ต้องได้ 1,800 บาทต่อ 8 ชั่วโมง สุดท้ายจึงมาเปลี่ยนว่าให้ 1,800 บาทต่อ 8 ชั่วโมง ก็เลยคิดว่าในเมื่อระเบียบมีแต่แรก ทำไมต้องมาลดค่า OT เราในการแจ้งครั้งแรก

- ค่าที่พัก / ค่าเดินทาง : ค่าที่พักเบิกได้ แต่สำหรับคนที่ไม่อยู่ที่พักที่จัดให้ จะให้เบิกค่าเดินทาง จากเดิมที่แจ้งที่กระทรวงว่าวันละ ไม่เกิน 600 บาทตามระเบียบ เป็นได้เท่าอัตรารถประจำทาง ค่าโดยสารเที่ยวละ 8 บาท (แม้ว่าบางทีเราออกเวรเที่ยงคืน ในยามที่ห้ามออกจากเคหะสถาน)

- เบี้ยเลี้ยงเบิกไม่ได้ เพราะที่โรงพยาบาลบุษราคัม มีอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น ครับ วันไหนที่ไม่ได้อยู่เวรก็ให้นั่งรถมากินข้าวที่โรงพยาบาล (ระยะทาง 7.1 กม. ตาม google MAP)

 

อย่างไรก็ตาม หวังให้ทุกอย่างราบรื่น TrueID ขอร่วมส่งกำลังใจให้หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าทุกคนในการต่อสู้โควิด และขอให้ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันลดภาระงานให้ทีมแพทย์ ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง ถูกวิธี ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม และไม่ไปพื้นที่เสี่ยง 

 

รักหมอ พยาบาล โปรดช่วยดูแลตัวเองให้ดีนะ!

 

 

ข้อมูล : กองบริหารการคลัง สำนักงานหระทรวงสาธารณสุข 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง