รีเซต

"อาการลองโควิด" เกิดกับใครได้บ้าง-ป่วยนานแค่ไหน-มีวิธีรักษาหรือไม่?

"อาการลองโควิด" เกิดกับใครได้บ้าง-ป่วยนานแค่ไหน-มีวิธีรักษาหรือไม่?
TNN ช่อง16
16 สิงหาคม 2565 ( 09:33 )
96

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึง อาการ Long Covid โดยระบุว่า 16 สิงหาคม 2565...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 418,484 คน ตายเพิ่ม 1,038 คน รวมแล้วติดไป 595,549,387 คน เสียชีวิตรวม 6,455,645 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.16 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 68.01

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

......สรุปความรู้ปัจจุบันเกี่ยวกับ Long COVID สำหรับประชาชน...

ความสำคัญ:

ภาวะผิดปกติหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เรียกว่า Long COVID นั้นเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกังวล และส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายสำหรับทั้งผู้ป่วย ครอบครัว/คนรัก/คนใกล้ชิด ที่ทำงาน และสังคม

สาเหตุ:

การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น แม้รักษาระยะแรกหายแล้ว แต่ก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายต่อเนื่อง โดยอาจเกิดขึ้นจาก 

1. มีการติดเชื้อถาวร หรือมีชิ้นส่วนหรือสารพันธุกรรมของไวรัส ค้างอยู่ในร่างกาย (persistent infection) โดยปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยัน

2. เกิดกระบวนการอักเสบระยะยาวเรื้อรัง (chronic inflammatory process)

3. การติดเชื้อทำให้การทำงานอวัยวะ/ระบบต่างๆ ของร่างกายผิดปกติไปจากเดิม (organ dysfunction from viral infection) 

4. เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (autoantibody) แต่ล่าสุดงานวิจัยจาก Ishikawa A มหาวิทยาลัยเยล ชี้ให้เห็นว่ากลไกนี้อาจเป็นไปได้น้อยลง

5. เกิดการเสียสมดุลของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในร่างกาย และส่งผลต่อความผิดปกติของอวัยวะและระบบต่างๆ ตามมา (Dysbiosis)

อาการผิดปกติของ Long COVID:

เกิดขึ้นได้แทบทุกระบบ ตั้งแต่สมอง/ระบบประสาท ภาวะสมองฝ่อ ความจำเสื่อม คิดวิเคราะห์ลำบากกว่าปกติ ปวดหัว เวียนหัว ปัญหาการนอนหลับ และความผิดปกติทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า เครียดวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน 

ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่กล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อบุหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หัวใจหยุดเต้น รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง และการอุดตันของหลอดเลือดตามที่ต่างๆ

ระบบหายใจผิดปกติ ทำให้เหนื่อยง่าย หอบ เพราะมีความผิดปกติของสมรรถนะของปอดและการแลกเปลี่ยนออกซิเจน

ระบบต่อมไร้ท่อ ได้แก่ การเกิดโรคเบาหวานในคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงคนที่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนก็อาจคุมโรคได้ยากมากขึ้น, ฮอร์โมน Cortisol ต่ำกว่าปกติ, และปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ อารมณ์ทางเพศลดลง ปัญหาในการหลั่งอสุจิ

รวมถึงอาการทางระบบอื่น ได้แก่ อ่อนเพลียเหนื่อยล้าจนทำงานไม่ไหว ออกกำลังกายไม่ไหว ผมร่วง และอาการปวดที่ต่างๆ ตามร่างกายทั้งกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ

ต้องเผชิญกับอาการผิดปกติไปนานแค่ไหน?:

อาการผิดปกติเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หลายเดือนไปเป็นปี หรือเป็นแบบถาวร ขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น

เกิดกับใครได้บ้าง?:

เกิดได้ทั้งในคนที่เคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง

เกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย 

โดยผู้ที่ป่วยปานกลางและรุนแรงจะเสี่ยงกว่าป่วยน้อยและไม่มีอาการ, เพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย (ราว 2 เท่า), และวัยผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าวัยเด็ก

โอกาสเกิดมากน้อยเพียงใด?:

เฉลี่ยแล้วมีโอกาสเกิดขึ้นราว 5-30⁺% 

ขึ้นกับสายพันธุ์ที่ติดเชื้อ และปัจจัยต่างๆ เช่น เพศ วัย อาการป่วยที่เป็น การฉีดวัคซีน ฯลฯ

US CDC พบว่า เกิดในวัยผู้ใหญ่ได้ราว 1 ใน 5 และในวัยเด็กได้ราว 1 ใน 4

ผลวิจัยล่าสุดในเนเธอร์แลนด์ พบเฉลี่ย 1 ใน 8 แต่ไม่ได้รวมอาการสำคัญที่พบบ่อยทั่วโลกคืออาการผิดปกติทางด้านความคิดความจำ ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงกว่านั้น

ป้องกันได้ไหม?:

การฉีดวัคซีนครบตามกำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อ Long COVID ได้ราว 15%

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ

มีวิธีรักษาไหม?:

ยังไม่มีวิธีรักษา Long COVID เฉพาะเจาะจง ปัจจุบันมีงานวิจัยทั่วโลกราว 26 โครงการที่กำลังศึกษาอยู่ แต่ต้องใช้เวลา

หากมีอาการผิดปกติจึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และทำการดูแลรักษาโรคหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้น

ปัจจุบันเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรดี?:

สำหรับคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ควรหมั่นประเมินสภาพร่างกายและจิตใจเป็นระยะ หากผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ ไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ

รักตัวเองและครอบครัวให้มาก ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุดครับ

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก


ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง