รีเซต

เปิดระเบียบราชทัณฑ์ “ขังนอกเรือนจำ” แก้นักโทษล้น?

เปิดระเบียบราชทัณฑ์ “ขังนอกเรือนจำ” แก้นักโทษล้น?
TNN ช่อง16
28 ธันวาคม 2566 ( 20:11 )
110

กรณีกรมราชทัณฑ์ได้ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง ในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 โดยสาระสำคัญของระเบียบนี้เป็นการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังแต่ละประเภทและ การอื่นตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งกรมราชทัณฑ์ส่งหนังสือแจ้งรายละเอียด และแนวทางปฏิบัติไปยังเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที


ระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาใหม่นี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ และในระเบียบนี้มีการวางหลักเกณฑ์ ให้ผู้ต้องขังคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้รับสิทธิประโยชน์ในการพิจารณาด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการอภัยลดโทษเหลือจำคุกเพียง 1 ปี และยังไม่เคยนอนในเรือนจำ เนื่องจากป่วย ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ และครบกำหนดเวลา 120 วัน เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ระบุว่า เมื่อครบกำหนด 120 วันแล้ว อธิบดีกรมราชทัณฑ์มีอำนาจให้ความเห็นชอบ โดยต้องเสนอเรื่องดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้รับทราบ



นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องขังที่เป็นอดีตนักธุรกิจและอดีตนักการเมืองหลายคนที่ถูกจับตาว่าจะได้รับประโยชน์จากระเบียบราชทัณฑ์ฉบับนี้ด้วยหรือไม่ เช่น กรณีผู้ต้องขังคดีทุจริตจำนำข้าว อย่าง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์  ถูกศาลพิพากษาจำคุก 48 ปี ได้รับอภัยโทษในปี 2564 สองรอบ เหลือวันต้องโทษ 10 ปี จะพ้นโทษ 21 เม.ย. 2571 และ ภูมิ สาระผล ศาลพิพากษาจำคุก 36 ปี ได้รับอภัยโทษสองรอบ เหลือวันต้องโทษ 8 ปี จะพ้นโทษ 25 ส.ค. 2568


ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ระเบียบราชทัณฑ์นี้ อาจเป็นการปูทางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีคดีอย่างน้อย 2 คดี โดยเฉพาะคดีปล่อยปละละเลยการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวจีทูจี ซึ่ง ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางกลับประเทศไทยเหมือนนายทักษิณ พี่ชาย และปฏิบัติทุกขั้นตอนเหมือนกัน อาจ เข้าเงื่อนไขระเบียบใหม่ของราชทัณฑ์ด้วย



ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งอย่างแน่นอน ส่วนการจำคุกจากคดีร้ายแรง เช่น ฆ่า ยาเสพติด จะไม่ถูกนำมาพิจารณากับระเบียบใหม่นี้ ขณะเดียวกัน ยอมรับว่านายทักษิณ มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ เพราะโทษไม่เกิน 4 ปี ไม่ได้เป็นบุคคลที่อยู่ในข่ายที่น่ากลัวของสังคม เช่น โทษฆ่าข่มขืน โดยย้ำว่าหากเป็นโทษที่ไม่เป็นภัยต่อสังคมในระบบสากล รวมถึงเหลือโทษน้อย สามารถคุมขังนอกเรือนจำได้ 


สำหรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์การออกระเบียบราชทัณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อบุคลลดบุคคลหนึ่งหรือไม่นั้น กรมราชทัณฑ์ ได้ชี้แจงก่อนหน้านี้ ว่า การออกระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ทันต่อยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง และหนึ่งในภารกิจการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์ที่เกี่ยวกับ การจำคุกในสถานที่คุมขัง ซึ่ง ปัจจุบันเป็นไปตามกฎกระทรวง ว่าด้วยกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 ว่าด้วยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดไว้ว่า “สถานที่คุมขัง” หมายความว่า สถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ ซึ่ง เป็นสถานที่ของทางราชการ หรือ เอกชนที่เจ้าของหรือผู้ปกครองดูแลรักษาสถานที่อนุญาต หรือยินยอมเป็นหนังสือให้ใช้ประโยชน์ในการควบคุมผู้ต้องขัง โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้คุมขังผู้ต้องขังเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่1. เพื่อการปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง 2. เพื่อการดำเนินการตามระบบพัฒนาพฤตินิสัย 3. เพื่อการรักษาพยาบาล และ 4. เพื่อการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย


โดยเจตนารมณ์ของกฎหมาย เป็นการบริหารโทษและบริหารเรือนจำ โดยการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำ เช่น ผู้ต้องโทษระยะสั้น ผู้ต้องขังเจ็บป่วยร้ายแรงใกล้จะถึงแก่ชีวิต ผู้ต้องขังที่มีความพร้อมใน การออกไปพัฒนาพฤตินิสัยนอกเรือนจำ เป็นต้น



ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงาน การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเรือนจำและเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขังและการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับสถานที่คุมขังตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน อาศัยอำนาจตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 กรมราชทัณฑ์ จึงได้ออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง พ.ศ.2566 เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ว่าด้วยกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 มาตรา ๓๓ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการที่อยู่ภายใต้กฎหมายกำหนดไว้ทั้งสิ้น ซึ่งการนำตัวนักโทษไปคุมขังไว้ในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ แต่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมราชทัณฑ์ และไม่ใช่เป็นการกำหนดประโยชน์ให้กับนักโทษ และในขณะใช้มาตรการจะต้องอยู่ในสถานที่ที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์ ถ้าทำผิดเงื่อนไขจะถูกเพิกถอนและส่งตัวกลับเข้าเรือนจำทันที


นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดประชุมกับผู้เกี่ยวข้องและเห็นว่า การกำหนดสถานที่สำหรับการควบคุมผู้ต้องขัง แต่ละประเภทให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดสถานที่อื่นเพื่อการควบคุมตัวนอกเหนือจากการควบคุมตัวในเรือนจำ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือนจำได้



ด้าน สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้สัมภาษณ์สื่อ ยืนยันว่า ออกระเบียบมาไม่ได้มองว่าใครได้ประโยชน์ และการพิจารณาว่าจะเข้าเกณฑ์หรือไม่ ต้องดูระยะเวลาการรับโทษ และพฤติกรรมระหว่างต้องโทษ ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ รวมทั้ง ต้องประเมินความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำด้วย ซึ่ง ขั้นตอนการพิจารณาว่า ผู้ต้องขังจะเข้าเกณฑ์ไปคุมขังนอกสถานที่หรือไม่นั้น เรือนจำแต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาตามเกณฑ์ที่กำหนด และส่งให้คณะทำงานกรมราชทัณฑ์ที่มี จุฑารัตน์ จินตกานนท์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานคณะทำงานพิจารณาอีกครั้ง เบื้องต้น คุณสมบัติของผู้เข้าเกณฑ์ต้องมีพฤติกรรมดี, เหลือโทษจำคุกเล็กน้อย, ไม่มีความเสี่ยง, เจ็บป่วย, เป็นผู้ต้องขังสูงวัย จำนวนนี้ยังรวมถึง กลุ่มผู้ต้องขังที่มีการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยเพื่อให้กลับคืนสู่สังคม และใช้ชีวิตอย่างปกติสุขด้วย โดย หลังจากคณะกรรมการในแต่ละเรือนจำได้เสนอรายชื่อผู้ต้องขังทั้งหมดเข้ามาที่กรมราชทัณฑ์แล้ว


เรียบเรียงโดย : กาญธิกา มาเรียน อังคณิต    


ข่าวที่เกี่ยวข้อง