สกสว.หนุนววน.เสริมทัพรับมือน้ำท่วม หน่วยงานน้ำยืนยันไม่วิกฤตเท่าปี2554
สกสว.เปิดเวทีระดมสมองนักวิชาการและหน่วยงานบริหารจัดการน้ำหลักของประเทศ ระบุไม่วิกฤตเท่ามหาอุทกภัยปี 2554 เชื่อว่างานวิจัยและนวัตกรรมจะช่วยปิดช่องว่างและพัฒนาการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานในระยะยาวได้ พร้อมเสนอให้ กทม.เป็นจุดตั้งต้นของการทำแผนที่เสี่ยงภัยและหามาตรการรับมือจุดเปราะบาง วันที่ 12 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผศ.เชิญโชค ศรขวัญ รองผู้อำนวยการ สกสว. เป็นประธานเปิดงานเสวนา “ววน.เสริมทัพรับมือน้ำท่วม” โดยมีคณะวิจัยและผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำร่วมเวที เพื่อรายงานสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ตลอดจนจำลองสถานการณ์น้ำท่วม และการเสนอแนะเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงการนำเสนอการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ววน. เป็นเครื่องมือพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สกสว. สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดสรรทุนสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะวิจัยได้ทำงานคู่ขนานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนำความรู้มาทำงานร่วมกับหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ปรับการทำงานของหน่วยงานคู่ขนานไปกับการยอมรับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น อันจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมสู่การเสริมศักยภาพของหน่วยงานอย่างเต็มที่
“สกสว.ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการบริหารกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการทำหน้าที่เป็นข้อต่อสำคัญในครั้งนี้ของ สกสว. กับหน่วยบริหารและจัดการทุน ตลอดจนมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีพันธกิจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ จะได้รับข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติของประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ อีกทั้งเตรียมองค์ความรู้ในการวางแผนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” รองผู้อำนวยการ สกสว.กล่าว
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เผยถึงสถานการณ์น้ำในประเทศไทยขณะนี้ว่า ในช่วงนี้ทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงอีกหลายจังหวัดมีฝนตกต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำท่วมหลายแห่ง ส่งผลให้เป็นที่วิตกกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่เช่นในปี 2554 หรือไม่ การระบายน้ำต้องสูบออกตลอดเวลา แต่บางพื้นที่มีข้อจำกัด ทำให้ต้องจัดโซนน้ำท่วมและหาพื้นที่ให้น้ำอยู่ในกรณีที่จำเป็นและต้องประคองไป จากการการประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนจากนี้ไป ดร.กนกศรี ศรินนภากร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ระบุว่าได้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์คาดการณ์ปริมาณน้ำฝน และปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพอากาศ พื้นดิน ปัจจัยทางทะเล ทั้งอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล ปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา จากสถิติฝนสะสมรายปีพบว่ามีปริมาณฝนแตกต่างกันในแต่ละปี โดยในปี 2554 มีลานิญาทั้งปี ขณะที่ปี 2565 ลานิญาปานกลางตั้งแต่ต้นปีทำให้เริ่มมีฝนตกตั้งแต่เดือนมกราคม และคาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้าตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนเข้าทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนหรือตอนล่าง 2-3 ลูก อย่างไรก็ตามอากาศและชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ก็พยายามใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการลดช่องว่างเพื่อให้การคาดการณ์ฝนทำให้ดีขึ้น ขณะที่ ผศ. ดร.ไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนกล่าวถึงสภาวการณ์ของการจำลองน้ำท่วมจากนี้ไป ว่าคณะวิจัยได้ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อจำลองระบบฝนคาดการณ์ 2 สัปดาห์ ล่วงหน้า 3 เดือน โดยใช้แบบจำลอง DWCM-AgWU และการจำลองเพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน จุดรวมของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ที่จังหวัดนครสวรรค์ ส่งผ่านมาที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่กรุงเทพมหานคร พบว่าการคาดการณ์ของแบบจำลองสอดคล้องกัน แต่สภาพฝนแปรปรวนสูง น้ำท่าที่นครสวรรค์จะสูงไม่เกิน 1,800 ลบ.ม./วินาที ก็อาจเพิ่มขึ้นได้ แต่จะเริ่มวิกฤติหากเกิน 2,000 ลบ.ม. จากการคาดการณ์จะขึ้นสูงสุดประมาณ 2,300 ลบ.ม./วินาที (กรณีไม่มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนเพิ่มเติม) ภาพรวมสามารถบริหารจัดการน้ำเหนือได้ น้ำที่จะผ่านมาที่บางไทรสามารถรับน้ำได้ 3,500 ลบ.ม./วินาที หากไม่เกินนี้ก็ไม่น่ากังวลและวิกฤตเท่าปี 2554 นอกจากนี้ยังพิจารณาผลกระทบความเสียหายจากน้ำท่วมเบื้องต้นโดยการคาดการณ์ปริมาณน้ำท่า มีน้ำสะสม 15,000 ล้านลบ.ม. ไม่ส่งผลกระทบมากนักจากน้ำไหลบ่าและน้ำล้นตลิ่ง ทั้งนี้ต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการประมวลผลแบบอัตโนมัติสำหรับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อดูปริมาณน้ำท่าให้แม่นยำมากขึ้นท่ามกลางความแปรปรวนของสภาพฝน โดยภาพรวมของน้ำท่วมในปีนี้ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์สูงแต่ไม่เท่าปี 2554 อย่างไรก็ตามจะต้องระวังเรื่องระบบระบายน้ำของแต่ละพื้นที่ ต้องประสานระหว่างกรุงเทพมหานครกับชุมชนอย่างใกล้ชิด
ส่วนการรับมือมือน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า มีหลักการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งต้นน้ำ ได้แก่ ฟื้นฟูอนุรักษ์ต้นน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ปรับปรุงเกณฑ์การบริหารน้ำ ส่วนกลางน้ำ ได้แก่ ทุ่งรับน้ำ พื้นที่รับน้ำหลากและแก้มลิง ขุดลอกลำน้ำ ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ คันกั้นน้ำและคันปิดล้อม การจัดจราจรทางน้ำ ขณะที่การจัดการปลายน้ำ (ระบายน้ำ) ได้แก่ ขุดลอกลำน้ำ ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ คันกั้นน้ำและคันปิดล้อม การควบคุมคุณภาพน้ำ ทั้งนี้สาเหตุหลักของอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกมากกว่าค่าเฉลี่ย ปริมาณน้ำเหนือจากพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา และภาวะน้ำทะเลหนุน ในปีนี้มีการบริหารจัดการน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทเป็นหลัก ระบายออกทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกให้สอดคล้องกับน้ำเหนือที่ไหลลงมา ปัจจุบันน้ำ 4 เขื่อนมีน้ำอยู่ร้อยละ 56 สามารถรับน้ำได้อีก 10,982 ลบ.ม. ส่วนการรับน้ำต่อเนื่องกับคลองในเขตและนอกเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งทางกรมชลประทานจะประสานงานกับสำนักการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด โดยได้เตรียมความพร้อมระบายน้ำลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกทางคลองรังสิตประยูรศักดิ์ซึ่งมาจากนครนายก มีการสูบออกอย่างเต็มศักยภาพให้เร็วที่สุดและพยายามเลี้ยงน้ำให้อยู่ในระดับควบคุม ส่วนฝั่งตะวันตกจากแม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีน พยายามเข้าเอาทุ่งให้น้อยที่สุด เช่น ทุ่งผักไห่ โดยมีคลองเส้นขวาง อาทิ คลองพระยาบันลือ คลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งต้องรับน้ำต่อเนื่องและรักษาระดับน้ำในคลองเพื่อระบายน้ำจากทิศเหนือลงทิศใต้ได้เร็วที่สุด ขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมและไม่มากเท่าฝั่งตะวันออก ทั้งนี้กรมชลประทานมี 5 แนวทางปฏิบัติสำคัญ ได้แก่ เก็บกักเต็มประสิทธิภาพ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง เช่น ผักตบชวา ระบบชลประทานเร่งระบาย และสแตนบายเครื่องมือเครื่องจักร นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะโดยการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้พื้นที่และหน่วยงานรับทราบ การบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนแบบบูรณาการ ใช้เครื่องมือต่าง ๆ และรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ซึ่งต้องพัฒนาปรับปรุงข้อมูลเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีการทำงานที่รวดเร็ว ถูกต้องตามหลักวิชาการ และตรงเป้าหมาย รวมถึงการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหารับมือน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมกับบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์คนรุ่นใหม่สู่การแก้ปัญหาเชิงวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนต่อยอดและขยายผลงานวิจัย ขณะที่นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ รักษาราชการแทน ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช.มีแผนบริหารจัดการน้ำ 3 ระดับ คือ ระดับหน่วยงาน ระดับแผนแม่บท และความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยมี 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ได้แก่ (1) คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเดือนกันยายน 65 จังหวัด (2) การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลัก เก็บเกี่ยวแล้วกว่า 8 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 68 (3) ทบทวน ปรับปรุงกฎเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลางและเขื่อนระบายน้ำ (4) ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน (5) ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ (6) ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา (7) เตรียมพร้อมและวางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ (8) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ (9) ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัย คัน ทำนบ พนังกันน้ำ เพื่อแก้ไขได้ตรงจุด (10) จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ (11) ตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ก่อนเกิดภัยตลอดช่วงฤดูฝน (12) การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ (13) ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย โดยใช้แบบจำลอง One Map คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาการตั้งศูนย์ส่วนหน้านั้นประกอบด้วย การคาดการณ์สภาพอากาศมีพายุจรที่แนวโน้มเข้าสู่ประเทศไทยและจะเกิดสถานการณ์น้ำรุนแรงในพื้นที่หลายจังหวัด การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนอยู่ในเกณฑ์หนักถึงหนักมาก การคาดการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 ของความจุ การคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักมากกว่าร้อยละ 80 ของลำน้ำหรือน้ำล้นตลิ่งนานกว่า 10 วัน ดุลยพินิจของผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งกระทบต่อทรัพย์สินและชีวิตในระดับรุนแรง และความซับซ้อนของสถานการณ์ ขณะที่แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทยนั้นได้ดำเนินโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยจะต้องสร้างสมดุลความต้องการน้ำและปริมาณน้ำต้นทุน พัฒนาปริมาณน้ำต้นทุนแต่ละลุ่มน้ำให้เต็มศักยภาพ และมีมาตรการ องค์กร กลไกการบริหารจัดการน้ำ
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะจมน้ำหรือไม่นั้น นายบุญสมได้อ้างอิงข้อมูลของนักวิชาการ ศ. ดร.สันติ ภัยหลบลี้ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งชี้ว่ามีสองปัจจัยหลักคือ การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลซึ่งมีปัจจัยของเปลือกโลกขยับตัว การละลายของน้ำแข็งขั้นโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ขณะที่อัตราการทรุดตัวของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คาดว่าในปี 2100 พื้นดินมีโอกาสทรุดตัวลง 2.4 เมตร จากข้อมูลดังกล่าวคาดว่ากรุงเทพมหานครจะยังไม่หายไปจากแผนที่ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลตามที่มีข่าวออกมา ทั้งนี้ยังหวังว่าภายใน 80 ปีต่อจากนี้งานวิจัยจะสามารถช่วยวางแผนการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานได้ถูกต้องมากขึ้น ผศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมว่าในการจัดการด้านโครงสร้างและกายภาพขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังเร่งเสริมคันกั้นน้ำ ซ่อมบำรุงและอุดฟันหรอความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งผู้ว่าฯชัชชาติได้ขอความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อทะลวงระบบท่อ แต่อาจมีน้ำสะสมบางพื้นที่ด้วยข้อจำกัดทั้งหลาย รวมถึงกำลังตรวจสอบการก่อสร้างบางจุดที่เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ โดยพยายามไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนที่เป็นพื้นที่รับน้ำ และเร่งผลักน้ำจากคลองต่าง ๆ ออกไป ส่วนระบบการจัดการจะปรับการสื่อสารใหม่ ใช้การพยากรณ์ที่มีความถูกต้องสูงเพื่อแจ้งเตือนล่วงหน้ารวมทั้งจุดที่วิกฤตเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ปรับพฤติกรรม
“เรามีงานวิจัยพอสมควรในการบริหารจัดการน้ำท่วม สิ่งที่กรุงเทพมหานครดำเนินการในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาคือ แก้ไขจุดวิกฤต ระบบแผนที่และระบบฐานข้อมูลโดยเริ่มจัดทำข้อมูลศักยภาพเชิงพื้นที่ เพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลภูมิสังคมในจุดเปราะบางได้เต็มที่ และใช้มาตรการเชิงพื้นที่ที่ไม่กระทบกับภัยอื่น ทั้งนี้อยากให้หน่วยงานร่วมกันทำแผนที่เสี่ยงภัยเพื่อให้ระบุว่าชุมชนใดมีพื้นที่เสี่ยง ไม่ใช่เฉพาะน้ำท่วม และจัดทำระบบข้อมูลอาสาสมัคร-ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อทำโลจิสติกส์ในการบริหารจัดการ ถ้าใช้ข้อมูลความเสี่ยงในการกำหนดและออกแบบมาตรการความเสี่ยงพร้อมกับประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนได้จะทำให้การบริหารจัดการดีขึ้น แต่ต้องศึกษากฎหมายด้วยว่าจะเอื้อต่อการดำเนินงานเพียงใด ทั้งนี้โครงสร้างของกรุงเทพมหานครมีความเสื่อมจากการใช้งาน สภาวะต่าง ๆ เช่น ถนนทรุดตัว ทำให้โครงสร้างเดิมอ่อนแอ ซึ่งควรจะมีการวิจัยเพื่อหาคำตอบ อาทิ รูปแบบการกัดเซาะริมทะเล ฟลัดเวย์ ฯลฯ เพื่อให้สามารถหาทางออกได้มากที่สุด” ด้านนางวันเพ็ญ แก้วแกมทอง หัวหน้ากองจัดการทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยว่า กฟผ.พัฒนาศักยภาพในการรับน้ำ การเตือนภัยเพื่อลดผลกระทบ การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำทั้งกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณฝนคาดการณ์ระบบ One Map จัดทำเกณฑ์การระบายน้ำ กำหนดจุดเฝ้าระวัง และประเมินพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ติดตามสภาพอากาศและการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชนิด คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนโดยพัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งวางแผนพร่องน้ำล่วงหน้าสำหรับเขื่อนที่มีความเสี่ยงน้ำเกินความจุ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ทั้งนี้คาดหวังว่างานวิจัยและนวัตกรรมจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบวิเคราะห์-คาดการณ์เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำร่วมกับ สนทช. และกรมชลประทาน ใช้เทคโนโลยีการสำรวจระบบโทรมาตรและแผนที่น้ำท่วม นำปริมาณฝนคาดการณ์มาประเมินน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ 7 วัน ตลอดจนพัฒนาระบบฐานข้อมูลน้ำ กฟผ. เชื่อมโยงข้อมูลกับคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ครบถ้วนรอบด้าน ทั้งนี้ กฟผ.ให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการน้ำผ่านงานวิจัย เช่น งานสำรวจและจัดทำแผนที่น้ำท่วม ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการน้ำ ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาศักยภาพของบุคลากร กฟผ.
“จากนี้ไปจะนำความเห็นของวิทยากรมาออกแบบการทำงาน และสานพลังหน่วยงาน ววน. 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1) การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ปัญหาสภาพภูมิอากาศ สร้างฉากทัศน์ในระยะยาวด้วยข้อมูลที่แม่นยำ 2) การบริหารจัดการน้ำ พื้นที่รองรับน้ำ ระบายน้ำ นวัตกรรมการจัดการในเชิงความรู้ใหม่ ๆ ทั้งการจัดการน้ำและพื้นที่ 3) การบรรเทาความเสียหาย โดยใช้กรุงเทพมหานครเป็นจุดตั้งต้นในการทำแผนที่ความเสี่ยง รวมถึงพื้นที่ภัยพิบัติอีกหลายจุด 4) การสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ 5) การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนและการสร้างความร่วมมือเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งนี้จะต้องบูรณการทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติการ มีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการทำงาน” รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวสรุปปิดท้าย