'วิษณุ-ชัชชาติ' แถลงผลประเมินความโปร่งใส ชี้แพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยได้ แต่ไม่ใช่ใช้จับผิด ขรก.
ข่าววันนี้ 1 สิงหาคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดแถลงข่าวการประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ของหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 8,303 แห่งทั่วประเทศ โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกันแถลง
นายวิษณุกล่าวในหัวข้อความสำคัญของการเสริมสร้างคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ และและบทบาทของรัฐบาลในการสนับสนุนการประเมินไอทีเอ 2565 ตอนหนึ่งว่า การส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐไม่ควรจะเป็นประเด็นให้มีความสงสัยถึงความจำเป็นและความสำคัญในปัจจุบัน เพราะทั้งคุณธรรมและความโปร่งใสเป็นสาระสำคัญใน 6 ประการของคำว่า “ธรรมาภิบาล” หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ถือเป็นกุญแจสำคัญในการไขไปสู่ความสำเร็จในการทำงาน
นายวิษณุกล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทยกำหนดว่าหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐบาลจะต้องปฏิบัติ รัฐจะต้องส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในหน่วยงานของรัฐทุกประเภท เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการจากรัฐทำให้เกิดความเท่าเทียม มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและประชาชนได้ประโยชน์ จึงถือเป็นหัวใจสำคัญ
นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับหลักบริหารบ้านเมืองมี 6 ข้อคือ 1.ทำให้ถูกต้องยุติธรรม 2.ความโปร่งใส 3.ความมีคุณธรรม 4.การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม 5.ความรับผิดรับชอบ และ 6.การทำให้งานของรัฐมีประสิทธิภาพคุ้มทุน คุ้มค่าทุกเวลา และประหยัด โดยจะต้องมีการประเมินเป็นระยะๆ โดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเป็นหน่วยงานกลางคือ ป.ป.ช. ซึ่งดำเนินการมาจนจะครบ 10 ปีแล้ว ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน 8,303 แห่งเป็นอย่างดี เพื่อประเมินไอทีเอ ขณะที่รัฐบาลสนับสนุนการทำไอทีเอโดยมีมติ ครม. เมื่อเดือน ม.ค.65 และมีการเข้มงวดกวดขันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม กฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน กฎหมาย ป.ป.ช. กฎหมายที่เกี่ยวกับความโปร่งใส กฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ในส่วนการป้องการการทุจริต โดยส่งเสริมเจ้าหน้าที่รัฐมีคุณธรรมส่งเสริมหน่วยงานรัฐจัดให้หน่วยงานมีความโปร่งใสเป็นไปตามขั้นตอนกฎระเบียบต่างๆ เปิดเผยได้ อนุญาตและไม่อนุญาตเพราะเหตุใด
นายวิษณุกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อาศัยประชาชนในการให้ความร่วมมือตรวจสอบจับผิดรายงานความไม่ชอบมาพากลให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่มีหลักการใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจะประกาศใช้ในไม่ช้า โดยกำหนดให้ประชาชนมีบทบาทในการประเมินสถานีตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในสถานีนั้นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาโยกย้ายแต่งตั้งได้ด้วย
“ขอบคุณหน่วยงานรัฐ 8,303 แห่ง ที่ให้ความร่วมมือ ป.ป.ช.ในการร่วมมือประเมินไอทีเอ เพราะผลการประเมินนี้จะนำไปใช้ในระดับโลก และขอให้กำลังใจหน่วยงานที่ยังได้คะแนนไม่ดี และขอแสดงความยินดีต่อหน่วยงานของรัฐที่ทำไอทีเอปีนี้ได้คะแนนมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และถือว่าเป็นแบบอย่างให้หน่วยงานรัฐอื่นๆเรียนรู้ในเรื่องนี้” นายวิษณุกล่าว
จากนั้นนายชัชชาติกล่าวในหัวข้อประโยชน์และความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลและการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการประชาชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และแยกระดับคุณภาพการให้บริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตอนหนึ่งว่า การเปิดเผยข้อมูลจำเป็นสำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกหน่วยงานจะต้องทำเพื่อให้เกิดความโปร่งใส กทม.มีนโยบายชัดเจน เช่น ข้อมูลงบประมาณ โอเพนดาต้า โอเพนโพลีซี นโยบายของผู้ว่าฯนำขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าทำตามที่พูดหรือไม่ มีแพลตฟอร์มให้ประชาชนแจ้งเหตุเดือดร้อน ซึ่งจะเกิดความโปร่งใสว่าผู้รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขให้ หรือยังไม่ใช่ว่าเอาไปหมกไว้ ในเมื่อทุกคนเห็นก็ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ว่าเราแก้ไขประชาชนอย่างไร ดังนั้น แพลตฟอร์มเหล่านี้มีส่วนช่วยในการเปิดเผยข้อมูลได้มาก
นายชัชชาติกล่าวว่า แต่ที่สำคัญคือฟอร์แมตนั้นจะต้องอยู่ในรูปแบบที่ประชาชนใช้ได้ง่าย ประชาชนพร้อมเทคโนโลยีพร้อม เหลือแต่ภาครัฐเองว่าเราพร้อมหรือไม่ เราก็มีนโยบายว่าหากประชาชนแจ้งเหตุเข้ามาจะต้องมีการแก้ไขปัญหาให้เห็นว่าแจ้งมาแล้วได้ประโยชน์จริง ฉะนั้น การทำโอเพนดาต้า ฝ่ายราชการจะต้องเอาจริงเอาจังและต้องอบรมให้ประชาชนเข้าใจว่าอย่าเอาตัวนี้มาจับผิดข้าราชการ แต่เอาเข้ามาช่วยให้เขาทำงานได้ง่ายมากขึ้น ทำให้รูปแบบการทำงานราชการเปลี่ยนไป ทำให้ขยายผลได้รวดเร็วและตอบโจทย์ผู้คนได้เร็วขึ้น
“ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในส่วนปลายน้ำ การที่เรากระจายอำนาจทำให้เราได้ผลอย่างแท้จริง ประชาชนเองก็มีความภูมิใจในการเข้ามามีส่วนร่วม มีอำนาจในการตรวจสอบได้สุดท้ายเขากับเรา จะเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้ระบบราชการเข้มแข็งขึ้น ขอให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่พนักงานภาครัฐทุกคน เราเป็นคนโชคดีที่มีงานมั่นคงมีสวัสดิการดูแลครอบครัว ประชาชนจำนวนมากที่ยังมีภาระขัดสน ดังนั้น เราต้องรับใช้ประชาชนให้ดีที่สุด ไอทีเอทำให้เราใช้ทรัพยากรดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเรารู้จักใช้ให้เป็นเปิดเผยข้อมูลก็จะทำให้รับใช้ประชาชนได้อย่างเต็มที่ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ” นายชัชชาติกล่าว