รีเซต

ร้านอาหาร อั้นไม่ไหว ส่งสัญญาณกลางมี.ค.ขึ้นราคา เร่งคนละครึ่งเฟส5

ร้านอาหาร อั้นไม่ไหว ส่งสัญญาณกลางมี.ค.ขึ้นราคา เร่งคนละครึ่งเฟส5
มติชน
4 มีนาคม 2565 ( 10:59 )
44

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า จากการติดตามสงครามรัสเซียและยูเครนขณะนี้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานและอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะทั้งสองประเทศเป็นแหล่งผลิตใหญ่ คาดว่าไม่เกินกลางเดือนมีนาคมนี้จะส่งผลมาถึงประเทศไทย ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่รายเล็กและร้านสตรีทฟู้ดจะปรับราคาขายขึ้นจากราคาเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ที่แพงขึ้น

 

“ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลต่อเนื่อง  ซึ่งเป็นต้นทุนสินค้าทุกอย่าง ขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบมาก และจากสงครามครั้งนี้น่าจะเป็นอีกปัจจัยมาซ้ำเติมธุรกิจร้านอาหาร จากตอนนี้มีหลายปัจจัยรุมเร้าทำให้ต้นทุนพุ่งและบรรยากาศซบเซาอยู่แล้ว หลังกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ4 คนไม่กล้าออกจากบ้าน แต่ขอให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเตรียมใจไว้ และเปลี่ยนเมนูหาวัตถุดิบอื่นแทนเพื่อลดต้นทุน ” นางฐนิวรรณกล่าว

 

นางฐนิวรรณ กล่าวอีกว่า สมาคมและผู้ประกอบการ เห็นเหมือนกันว่า จะเสนอขอให้รัฐบาลเร่งออกโครงการคนละครึ่ง เฟส5 เพื่อพยุงกำลังซื้อ เพราะเป็นประชานิยม เป็นความคุ้นเคยของประชาชนที่ต้องการ และส่งผลตรงถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้บริโภคโดยตรง ที่จะมีรายได้เพิ่มในช่วงที่มีโครงการ

 

นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นถึง 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว ซึ่งน้ำมันเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะกระทบต้นทุนวัสดุก่อสร้างโดยตรง โดยเฉพาะปูนซิเมนต์หากราคาขึ้นจะทำให้วัสดุก่อสร้างแทบจะทุกชนิดปรับขึ้นตามไปด้วย เช่น กระเบื้อง สุขภัณฑ์ ขณะที่เหล็ก อะลูมิเนียม และทองแดง ปรับขึ้นไปแล้ว 30% เมื่อปีที่แล้ว หากสงครามยืดเยื้อมีแนวโน้มราคาจะปรับขึ้นอีก

 

“สิ่งน่ากังวลคือต้นทุนก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นอีกและกระทบต่อราคาบ้านขึ้นตามไปด้วย จากปัจจุบันต้นทุนปรับขึ้นไปแล้ว 5% ตอนนั้นประเมินว่าน้ำมันอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเมื่อต้นปีเราได้ปรับราคาบ้านแล้ว 1-3%หากสงครามยืดเยื้อราคาบ้านคงจะขยัยขึ้นอีก”นายวงศกรณ์ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ความกังวลที่เริ่มกลับมาอีกครั้งในช่วงเวลานี้ คือ ผลกระทบจากจำนวนผู้ติดเชื่้อโอมิครอนรายวันค่อนข้างสูง และต้องเพิ่มความระมัดระวังก่อการทำงานช่วงการก่อสร้าง ทำให้เกิดภาวะแรงงานตึงตัวและขาดแคลนได้ในบ้างช่วง ซึ่งตอนนี้เริ่มมีการแย่งแรงงาน โดยยอมจ่ายราคาค่าจ้างสูงขึ้น ก็จะมีผลต่อต้นทุนและขอปรับราคาค่ารับเหมากับลูกค้าแทน รวมถึงในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า สินค้าจะมีการทยอยปรับราคา หลังจากอั้นมาตั้งแต่เกิดโควิดระบาด สวนทางกับต้นทุนที่สูงขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง