รีเซต

โควิด โอไมครอนเพิ่มจำนวนไวกว่าเดลต้า70เท่า ฮ่องกงพบในหลอดลมอื้อ

โควิด โอไมครอนเพิ่มจำนวนไวกว่าเดลต้า70เท่า ฮ่องกงพบในหลอดลมอื้อ
ข่าวสด
16 ธันวาคม 2564 ( 20:25 )
131
โควิด โอไมครอนเพิ่มจำนวนไวกว่าเดลต้า70เท่า ฮ่องกงพบในหลอดลมอื้อ

โควิด - วันที่ 16 ธ.ค. สกายนิวส์รายงานว่า การศึกษาเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 ชนิดกลายพันธุ์โอไมครอนของนักวิทยาศาสตร์จากฮ่องกง พบว่าเชื้อสามารถเพิ่มจำนวนในหลอดลมได้มากกว่าชนิดเดลต้าเป็น 70 เท่า แต่เพิ่มจำนวนได้ไม่ดีในปอด บ่งชี้ว่าอาจก่อโรครุนแรงน้อยลง

 

การค้นพบดังกล่าวของคณะนักวิจัยในฮ่องกง พบว่า ชนิดกลายพันธุ์โอไมครอนนั้นเพิ่มจำนวนได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ซึ่งอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าชนิดกลายพันธุ์โอไมครอนมีความสามารถในการก่อโรคที่รุนแรงน้อยลง

 

อย่างไรก็ดี นายแพทย์ไมเคิล ชาง จือเว่ย ผู้นำคณะวิจัยในฮ่องกง กล่าวเตือนถึงข้อบ่งชี้ความรุนแรงของโรคว่าไม่ได้ขึ้นกับขีดความสามารถในการก่อโรคของไวรัสเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงปฏิกิริยาตอบโต้จากภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อแต่ละคนด้วย

 

นพ.เว่ย ระบุว่า ชนิดกลายพันธุ์โอไมครอนมีความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็วอย่างน่าตื่นตะลึงทำให้อันตรายโดยรวมของเชื้อชนิดนี้ยังคงอยู่ในขั้นที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ

 

"การแพร่ระบาดรวดเร็วนั้นทำให้มีปริมาณผู้ติดเชื้อมากขึ้นกว่าปกติ และหมายถึงทำให้มีโอกาสที่จะมีผู้ป่วยหนักต้องเข้ารับการรักษา และโอกาสมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย แม้ไวรัสจะมีความสามารถในการก่อโรคน้อยลงก็ตาม"

 

"นอกไปจากนี้หากพิจารณาควบคู่กับผลการศึกษาหลายฉบับที่พบว่าโอไมครอนมีความสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนป้องกันโรคโควิด และจากการติดเชื้ออื่นในอดีตได้มากขึ้นแล้ว นับว่าอยู่ในขั้นที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ" นพ.เว่ย ระบุ

 

รายละเอียดการศึกษา

การศึกษานี้เป็นผลงานของคณะนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง (HKUMed) โดยแยกไวรัสชนิดกลายพันธุ์โอไมครอนออกมามาทดสอบกับเนื้อเยื่อทางเดินหายใจมนุษย์ โดยเทียบความสามารถการแบ่งตัวระหว่างชนิดดั้งเดิม เดลต้า และโอไมครอน

 

ผลการทดลองพบว่า โอไมครอนมีปริมาณเชื้อมากเป็น 70 เท่า บริเวณหลอดลม เมื่อเทียบกับเดลต้า และชนิดดั้งเดิม หลังติดเชื้อผ่านไป 24 ชั่วโมง

 

ทว่า เมื่อนำมาเทียบปริมาณเชื้อในปอดกลับพบว่า โอไมครอนมีปริมาณเชื้อน้อยกว่าทั้งสองชนิดข้างต้นประมาณ 10 เท่า หลังติดเชื้อผ่านไป 24 ชั่วโมง บ่งชี้ว่าอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เชื้อมีความรุนแรงในการก่อโรคลดลง

 

นพ.เดวิด สเตรน อาจารย์แพทย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยเอ็กซีเทอร์ ประเทศอังกฤษ กล่าวถึงผลการศึกษาของทีมจาก HKUMed ว่าความสามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้น 70 เท่าในหลอดลมนั้นเป็นสิ่งที่อธิบายได้ถึงความสามารถในการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นของโอไมครอน

 

"อย่างไรก็ดี เราไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าความสามารถที่ลดลงในการเพิ่มปริมาณในปอดผู้ติดเชื้อจะหมายความว่าป่วยน้อยลงหรือไม่อย่างไร แม้ฟังดูผิวเผินแล้วอาจจะดี แต่ความเร็วในการเพิ่มปริมาณเชื้อเร็วขึ้น 70 เท่า ผนวกกับก่อโรครุนแรงน้อยลง 10 เท่า หากคำนวณแล้วก็จะพบว่ามีความเสี่ยงที่จะก่อโรคมากกว่าเดิมเป็น 7 เท่าอยู่ดี" นพ.สเตรน ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง