นักวิทยาศาสตร์นับหมื่นคนทั่วโลก ลงนามเรียกร้องให้ทั่วโลกต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง
TNN World
29 กรกฎาคม 2564 ( 09:12 )
115
Climate Change: นักวิทยาศาสตร์นับหมื่นคนทั่วโลก ลงนามเรียกร้องให้ทั่วโลกต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง เพราะตอนนี้ โลกอยู่ในจุดวิกฤต
วานนี้ (28 กรกฎาคม) นักวิทยาศาสตร์นับหมื่นคนทั่วโลก ลงนามในบทความที่เผยแพร่ผ่านนิตยสารวิทยาศาสตร์ BioScience ย้ำข้อเรียกร้องที่ให้ผู้นำโลกมีมาตรการที่จริงจัง เพื่อรับมือกับวิกฤตสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง
ฟิลิป ดัฟฟี่ กรรมการบริหาร สถาบันวิจัยสภาพอากาศวู๊ดเวลล์ ในรัฐแมตซาชูเซตส์ บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่เลวร้ายที่เราเผชิญมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเหตุน้ำท่วม ไฟป่าที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ ก็แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนที่เราต้องเร่งดำเนินการต่อวิกฤตสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว
2 ปีก่อน มีนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 10,000 คน จาก 150 ประเทศ ที่ได้ร่วมลงนามประกาศ "ความเร่งด่วนของสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงของโลก" และในปีนี้ มีนักวิทยาศาสตร์เพิ่มอีกกว่า 2,800 คน ที่ร่วมลงนามเรียกร้องให้ปกป้องชีวิตบนโลกใบนี้
นับตั้งแต่การประกาศเมื่อปี 2019 แต่โลกยังเผชิญกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ โดยในรายงานการศึกษา นักวิจัยได้อาศัย "สัญญาณชีพ" ในการวัดสุขภาพของดาวเคราะห์ดวงนี้ ซึ่งรวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, ความหนาแน่นของธารน้ำแข็ง, ขอบเขตน้ำแข็งในทะเล และการตัดไม้ทำลายป่า โดยพบว่า จาก 31 สัญญาณเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า มีอย่างน้อย 18 สัญญาณ ที่พบว่ากำลังทำสถิติสูงสุด หรือต่ำสุด เป็นประวัติการณ์
ปี 2020 เป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับที่ 2 นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการบันทึกอุณหภูมิ และพบว่าช่วงต้นปีนี้ ความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนชั้นบรรยากาศของโลก สูงกว่าช่วงเวลาใด ๆ นับตั้งแต่ที่เริ่มต้นวัดค่ากันมา
นักวิจัย ยังระบุด้วยว่า ปริมาตรของนำแข็งในกรีนแลนด์ และแอนตาร์กติกา อยู่ในระดับต่ำที่สุด นับตั้งแต่มีการบันทึกมา โดยพบว่า น้ำแข็งละลายเร็วขึ้นกว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้วถึง 31% และขณะเดียวกัน ในปี 2020 ป่าแอมะซอนในบราซิล ถูกทำลายไปมากที่สุดในรอบ 12 ปี
นักวิจัยยังย้ำด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ควรรวมอยู่ในหลักสูตรการเรียนในโรงเรียนทั่วโลก เพื่อสร้างความตระหนักตั้งแต่วัยเด็ก และควรบอกถึงสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิกาศ นั่นคือ "การที่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากโลกใบนี้มากจนเกินไป"