รีเซต

เตรียมคัดกรอง "ฝีดาษลิง" ผ่านระบบ "Thailand Pass" สำหรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย

เตรียมคัดกรอง "ฝีดาษลิง" ผ่านระบบ "Thailand Pass" สำหรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย
Ingonn
26 พฤษภาคม 2565 ( 06:54 )
164
เตรียมคัดกรอง "ฝีดาษลิง" ผ่านระบบ "Thailand Pass" สำหรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย

"ฝีดาษลิง" โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แม้ประเทศไทยยังไม่พบ "โรคฝีดาษลิง" แต่ได้มีมาตรการป้องกัน สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ เพื่อไม่ให้ "ฝีดาษลิง" แพร่ระบาดในไทย โดยล่าสุดกรมควบคุมโรค พร้อมคัดกรองโรคฝีดาษลิงผ่านระบบ "Thailand Pass" สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมควบคุมโรค โดยกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค เริ่มให้บริการคัดกรองโรคฝีดาษลิงสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ผ่านระบบ Thailand Pass ซึ่งจะช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ 


การเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงภายในประเทศ คือ เน้นการติดตามเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ประเทศในแถบทวีปแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว ซึ่งเมื่ออยู่ที่สนามบินในประเทศต้นทางอาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย อาจมีอาการได้ ซึ่งการคัดกรองจะดูว่ามีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส หรือประวัติมีไข้ร่วมกับมีอาการหนึ่งอาการ ได้แก่  เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต ประกอบกับมีผื่นกระจายตามลำตัว มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด และเดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ใน ประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศภายใน 21 วัน พร้อมทั้งแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็น QR code ให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวสแกนเข้าระบบเพื่อรายงานอาการป่วย ซึ่งหลักๆ ในบัตรจะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด รวมถึงแจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย

 

สถานการณ์ "โรคฝีดาษลิง"

ข้อมูลทางระบาดวิทยาเท่าที่มีรายงาน พบเป็นเพศชาย 122 คน เพศหญิง 1 คน เป็นวัยทำงานอายุ 20-59 ปี จำนวน 61 คน รายงานอาการป่วย 57 คน พบเป็นผื่น/ตุ่มนูน 98% ไข้ 39% ต่อมน้ำเหลืองโต 26% และไอ 2% โดยลักษณะของผื่น 


เป็นตุ่มแผลก้นลึก 75% ตุ่มน้ำใส 9% ผื่นนูน/ตุ่มหนอง 2% บริเวณที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน เช่น อวัยวะเพศ 39% ปาก 30% และรอบทวารหนัก 2% ตรวจพบสายพันธุ์ West African 9 ราย


ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานรมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ West African Clade ซึ่งอัตราป่วยตายอยู่ที่ 1% ต่ำกว่าสายพันธุ์ Central African Clade ซึ่งมีอัตราป่วยตาย 10% มีสัตว์ที่เป็นรังโรค คือ สัตว์ฟันแทะและลิง ติดต่อจากสัตว์สู่คนผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือแผลของสัตว์ที่ป่วย ส่วนการติดจากคนสู่คน จะผ่านการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมากๆ สัมผัสกับแผลหรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรง หรือเสื้อผ้าของใช้ผู้ป่วยที่มีสารคัดหลั่ง 


บางประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด มีการรวมกลุ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้นช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับระยะฟักตัวอยู่ที่ 5-21 วัน อาการป่วยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรุนแรง ช่วง 5 วันแรก จะมีอาการนำ คือ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ และหมดแรง ระยะนี้เริ่มแพร่เชื้อได้บ้างแล้ว และช่วงออกผื่น 2-3 วันหลังมีไข้ จะมีผื่นขึ้นเริ่มจากใบหน้า ลำตัว แขนขา รวมถึงบริเวณที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ช่องปาก และอวัยวะเพศ เริ่มจากตุ่มนูนแดงเล็กๆ เป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง เมื่อแตกจะมีแผลเป็นหลุม ส่วนใหญ่หายเองได้ บางรายอาจมีเป็นแผลเป็น และบางรายอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาสุขภาพเดิม อาจมีปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่กระจกตาทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

 

การป้องกัน "โรคฝีดาษลิง" ในไทย

  1. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที  

  2. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรอง และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ 

  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า

  4. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ 

  5. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือ เจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

 


ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง