รีเซต

รู้จัก ‘วัดพระศรีมหาอุมาเทวี’ (วัดแขก) แห่งสีลมหนึ่งความศรัทธาของคนไทย

รู้จัก ‘วัดพระศรีมหาอุมาเทวี’ (วัดแขก) แห่งสีลมหนึ่งความศรัทธาของคนไทย
TNN ช่อง16
6 ตุลาคม 2565 ( 12:54 )
154

จากกรณีเมื่อวานที่ผ่านมาที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี(วัดแขก สีลม) ได้มีการจัดเทศกาลนวราตรีเป็นเทศกาลประจำปีของชาวฮินดูที่ 1 ปีจะมีเพียงครั้งเดียว สำหรับในปี 2565 เทศกาลนี้จะมีช่วงวันที่ 26 กันยายน - 5 ตุลาคม 2565 ซึ่งคำว่า นวราตรี หมายถึง 9 คืน ในภาษาสันสกฤต 

ซึ่งในช่วง 9 คืนนี้จะมีการบูชาพระแม่ทุรคาและพระแม่ปารวตีในปางต่างๆ 9 ปางด้วยกัน ในวันสุดท้ายของเทศกาลจะเรียกว่าเป็นวันวิชยาทศมี หรือวันดูเซร่า ซึ่งเป็นวันที่สำคัญสุดของเทศกาลนี้ และจะมีการเฉลิมฉลองทั่วทั้งประเทศอินเดีย(เมื่อวันที่ 5 ต.ค.65)



ภาพจาก TNN ONLINE 


โดยบรรยากาศเทศกาลงานนวราตรี ประจำปี 2565  มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาร่วมพิธีแห่ขบวนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) อย่างคึกคัก มีการจัดตั้งโต๊ะบูชาตลอดถนนสีลมยาวไปจนถึงถนนสาทรเพื่อรอรับขบวน และตลอดเส้นทางถนนสีลมมีบรรดาศิษยานุศิษย์ เข้าร่วมงานอย่างเนืองแน่น พร้อมใจกันประดับตกแต่งโต๊ะบูชาอย่างสวยงาม ตลอดเส้นทางที่มีขบวนแห่องค์พระแม่และเทพเทวรูปต่างๆ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู 


ภาพจาก TNN ONLINE 



ทำความรู้จัก‘วัดพระศรีมหาอุมาเทวี’ (วัดแขก) 


วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขกสีลม เป็นวัดในศาสนาฮินดู   สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2522 โดยชาวอินเดียจากรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย แต่เดิมบริเวณที่ตั้งของวัดแขกเป็นสวนผักของนางปั้น อุปการโกษากร 

ต่อมานายไวตรีประเดียอะจิ นายนารายเจติ และนายโกบาระตี ชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านถนนสีลม ได้นำที่ดินของพวกตนไปแลกกับที่ดินสวนผักนี้ แล้วสร้างวัดขึ้นโดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการประกอบกิจกรรมของชาวฮินดูจากอินเดียตอนใต้ และได้มีการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ “วัดพระศรีมหามรีอัมมัน” เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2454

ก่อนที่จะมาเป็นวัดแขกที่งดงามในปัจจุบัน เมื่อแรกเริ่มสร้าง วัดเป็นเพียงศาลาขนาดเล็กมีชื่อว่า ศาลาศรีมรีอัมมัน ต่อมาจึงมีการสร้างโบสถ์และนำ เทวรูปพระแม่ศรีมหาอุมาเทวีจากประเทศอินเดียมาประดิษฐาน 

สถาปัตยกรรมของวัดเแขกป็นแบบอินเดียใต้อันสืบเนื่องจากสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์โจฬะและราชวงศ์ปัลลวะ โดยมีจุดเด่นทางสถาปัตยกรรมของวัด ได้แก่ โคปุระ หรือ ซุ้มประตูที่ตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปเทพเจ้าต่าง ๆ ประดับรูปปั้นเทพเจ้าองค์สำคัญของศาสนาฮินดูบนซุ้มและมุมเครื่องยอด ทาสีสันสวยงาม เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูเข้ามาแล้ว จะพบกับโบสถ์ประธาน ภายในโบสถ์ประธานประดิษฐานเทวรูปสำคัญ 3 องค์ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ได้แก่ พระศรีมหาอุมาเทวี พระขันธกุมาร และพระพิฆเนศวร



ภาพจาก TNN ONLINE 


ทั้งนี้แต่เดิม วัดแขก หรือ วัดพระศรีมหาอุมาเทวีนี้เป็นสถานที่จำเพาะของผู้นับถือศาสนาฮินดูเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเปิดต้อนรับผู้สัญจรทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา แต่มีข้อกำจัดบางประการตามหลักศาสนาฮินดู เช่น ห้ามนำเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าวัด และห้ามสตรีในระหว่างมีรอบเดือนเข้าภายในบริเวณโบสถ์ เป็นต้น 

วัดแห่งนี้ยังคงมีพราหมณ์ผู้รู้พระเวททำพิธีประจำ โดยในตอนบ่ายจะมีการปิดโบสถ์เพื่ออ่านบทสรรเสริญพระเป็นเจ้า นอกจากนี้ยังมีการจัดพิธีกรรมบูชาในศาสนาฮินดูตลอดทั้งปี โดยเทศกาลสำคัญประจำปีที่มีการจัดขบวนแห่ประเพณีอย่างยิ่งใหญ่และมีผู้ศรัทธาทั้งชาวอินเดียและชาวไทยจำนวนมากเข้าร่วมงาน คือ เทศกาลดูเซร่า หรือ เทศกาลนวราตรี



ภาพจาก TNN ONLINE 


 เทศกาลนี้จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันขึ้น 1 – 9 ค่ำเดือน 11  (ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม) เพื่อบูชาพระศรีมหาอุมาเทวี 


เนื่องจากถือว่าช่วงเวลาดังกล่าวพระแม่อุมาและขบวนเทพจะเสด็จมาสู่พื้นพิภพเพื่อประทานพรแก่ชาวโลก ผู้ศรัทธาทั้งชาวอินเดียและชาวไทยจะร่วมพิธีสวดภาวนาที่วัด ถือศีลและรับประทานเฉพาะพืชผักตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ในค่ำคืนของวันที่ 10 หรือ ‘วันวิชัยทัศมี’ จะมีการปิดถนนสีลม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนสาทร และถนนสุรศักดิ์เพื่อเปิดทางสำหรับขบวนแห่ราชรถเทวรูปต่าง ๆ 

โดยขบวนนำ จะเป็นพราหมณ์ประทับทรงพระแม่อุมา ทูนหม้อกลัศบรรจุทราย น้ำ เหรียญ และเครื่องบูชา ตามด้วยขบวนร่างทรงเจ้าแม่กาลี ร่างทรงขันทกุมาร เครื่องบูชาประกอบด้วยมะพร้าว นม กล้วยน้ำว้า ดอกดาวเรือง และธูป อาจมีผลไม้อื่นและขนมด้วย ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นก็จะนำรูปหล่อของพระแม่พร้อมของที่ใช้ในพิธีไปจุ่มน้ำ ซึ่งเดิมจุ่มที่คลองสีลมแต่ปัจจุบันทำพิธีที่แม่น้ำเจ้าพระยา


ภาพจาก TNN ONLINE 



นวราตรี 9 ปาง มีอะไรบ้าง


1. ปางไศลบุตรี (shailputri) ปางพระปารวตี ผู้เป็นธิดาของพระหิมวัต ผู้เป็นใหญ่ปกครองภูเขาหิมาลัย

2. ปางพรหมจาริณี (bramcharini) ปางที่พระอุมาออกบำเพ็ญตบะเพื่อบูชาพระศิวะ กระทั่งเป็นที่พอพระทัย จึงวิวาห์ด้วย

3. ปางจันทราฆัณฐ์ (chandraghanta) ปางของพระทุรคาที่ทรงปราบอสูร ฆัณฑาและนำสันติสุขกลับคืนมาสู่โลก

4. ปางกูษมัณฑา (kushmanda) ปางที่มีรัศมีเปล่งปลั่งในสถานะผู้สร้างสรรค์จักรวาล

5. ปางสกันธ์มาตา (skandmata) ปางอุ้มพระสกันธ (ขันธกุมาร) ไว้บนตัก แสดงถึงความรักของมารดาที่มีต่อบุตร

6. ปางกาตยะยานี (kaatyayani) ปาง 4 กร แห่งการทำลายมารร้ายในจิตใจ ประทานสุขภาพที่แข็งแรงแก่สาวก

7. ปางกาลราตรี (kaalratri) ปางที่มีผิวดำ หมายถึงการทำลายซึ่งอวิชชา ความโง่เขลาผู้อยู่เหนือการเวลา

8. ปางมหาเคารี (mahagauri) ปางประทานพรให้สาวกประสบแต่ความสุขสวัสดิ์มงคล

9. ปางสิทธิธาตรี (siddhidatri) ปางประทานโอกาสให้เหล่าเทพ ฤาษี สิทธา เทวดา คนธรรพ์ อสูร ยักษ์ สาวกที่เข้าเฝ้า


ภาพจาก TNN ONLINE 



ปฏิทินจัดงานนวราตรี 2565 วัดแขก สีลม


วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2565

พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร (บรมครู) ประจำปี 2565 พิธีบูชาเข้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีบูชาเทพประจำแผ่นดิน, พิธีบูชาเทพแห่งดาวนพเคราะห์ทั้งเก้า, พิธีบูชาเพื่อขออนุญาตต่อองค์มทาเทวีและมหาเทพทั้งหลายที่ประดิษฐานในวัดฯ เพื่อเริ่มงานนวราตรีประจำปี 

พิธีบูชาเย็น เริ่มเวลา 16.00 น. เสร็จพิธีอัญเชิญพิฆเนศวร องค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีออกแห่ ในเส้นทางถนนปั้น

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2565

เริ่มงานพิธีนวราตรี ประจำปี 2565 (Navarathri 2022) พิธีบูชาเช้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีบูชาเย็นเริ่มเวลา 16.00 น. อัญเชิญธงสิงห์ขึ้นเสา เวลาประมาณ 18.30 น. (บูชาองค์พระแม่ครีมหาทุรคาเทวี)

วันอังคารที่ 27 กันยายน 2565

พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาทุรคาเทวี พิธีบูชาเช้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีชาโฮมัมเริ่มเวลา 17.00 น. พิธีบูชาใหญ่เริ่มเวลา 19.30 น. เป็นต้นไป

วันพุธที่ 28 กันยายน 2565

พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาทุรคาเทวี พิธีบูชาเช้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีชาโฮมัมเริ่มเวลา 17.00 น. พิธีบูชาใหญ่เริ่มเวลา 19.30 น. เป็นต้นไป

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2565

พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาลักษมีเทวี (เทพเจ้าแห่งโชคลาภความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์และเงินทอง) พิธีบูชาเช้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีบูชาโฮมัมเริ่มเวลา 17.00 น. พิธีบูชาใหญ่เริ่มเวลา 19.30 น. เป็นต้นไป

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565

พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาลักษมีเทวี (เทพเจ้าแห่งโชคลาภความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์และเงินทอง) พิธีบูชาเช้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีบูชาโฮมัมเริ่มเวลา 17.00 น. พิธีบูชาใหญ่เริ่มเวลา 19.30 น. เป็นต้นไป

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2565

พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาลักษมีเทวี (เทพเจ้าแห่งโชคลาภความอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพย์และเงินทอง) พิธีบูชาเช้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีบูชาโฮมัมเริ่มเวลา 17.00 น. พิธีบูชาใหญ่เริ่มเวลา 19.30 น. เป็นต้นไป

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม 2565

พิธีอภิเษกสมรสขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี และองค์พระศิวะมหาเทพ พิธีบูชาเช้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีบูชาโฮมัมเริ่มเวลา 17.00 น. พิธีบูชาใหญ่เริ่มเวลา 19.30 น. เป็นต้นไป

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2565

พิธีบูชาองค์พระแม่ฯ บูชาองค์พระศิวะฯ พิธีบูชาเช้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีบูชาโฮมัมเริ่มเวลา 17.00 น. พิธีบูชาใหญ่เริ่มเวลา 19.30 น. เป็นต้นไป

วันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2565

พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาสรัสวดีเทวี พิธีบูชาเช้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีบูชาโฮมัมเริ่มเวลา 17.00 น. พิธีบูชาใหญ่เริ่มเวลา 19.30 น. เป็นตันไป

วันพุธที่ 5 ตุลาคม 2565

งานแห่ประเพณีประจำปีวัดพระศรีมหาอมาเทวี วันวิชัยทัสมิ (VIYAJA DASMI) ขบวนแห่ออกจากเทวสถานวัดพระศรีมหาอุมาเทวี เวลา 19.30 น.

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม 2565

พิธีอัญเชิญธงสิงห์ลง และอาบน้ำคณะพราหมณ์ และคณะคนทรง (Yellow Water Festival) พิธีบูชาเย็นเริ่มเวลา 17.00 น. หลังจากเสร็จพิธี คณะพราหมณ์ผูกข้อมือด้วยสายสิญจน์ ที่ทำพิธีมาแล้วให้สานุศิษย์ทุกท่านฟรี


สถานที่ตั้งของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) :  ตั้งอยู่เลขที่ 2 มุมถนนสีลมกับถนนปั้น แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 


ข้อมูลจาก  :  กลุ่มเผยแพร่ฯกรมศิลปากร

ภาพจาก  : TNN ONLINE 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง