รีเซต

พบซากลูกช้างกุยบุรี วัย 2 ปี ติดเชื้อนอนตายอนาถกลางป่านับสิบวัน คาดถูกขับจากโขลง

พบซากลูกช้างกุยบุรี วัย 2 ปี ติดเชื้อนอนตายอนาถกลางป่านับสิบวัน คาดถูกขับจากโขลง
มติชน
5 มีนาคม 2564 ( 10:56 )
85
พบซากลูกช้างกุยบุรี วัย 2 ปี ติดเชื้อนอนตายอนาถกลางป่านับสิบวัน คาดถูกขับจากโขลง

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นางสาวขนิษฐา จันทโชติ หัวหน้าสถานีวนวัฒนวิจัยประจวบคีรีขันธ์ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลแปลงปลูกและการจัดการไม้ตะเคียนทอง พบซากลูกช้างป่าภายในแปลงปลูก ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของกรมป่าไม้ หมู่ที่ 9 บ้านย่านซื่อ ต.หาดขาม

 

จากนั้นได้แจ้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) เจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.15 สัตวแพทย์ ร่วมตรวจสอบพบซากลูกช้างอายุ 1-2 ปี สภาพเน่าเปื่อย คาดว่าตายกว่า 10 วัน ตรวจสอบซากช้างไม่พบร่องรอยของบาดแผลจากการถูกทำร้าย หรือหัวกระสุนจากอาวุธปืน สำหรับผลการผ่าชันสูตร พบว่าสาเหตุเนื่องจากลูกช้างป่าติดเชื้อไฮเปอร์ไวรัส และก่อนหน้าอาจถูกขับออกจากโขลง จากนั้นเจ้าหน้าที่นิมนต์พระสงฆ์ 7 รูป สวดบังสุกุล อุทิศส่วนกุศล ก่อนโรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อและใช้แบคโฮขุดหลุมฝังซากช้าง

 

นายดิเรก จอมทอง ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ออกหากินในที่ดินทำกินของเกษตรกรพื้นที่ อ.กุยบุรี อ.สามร้อยยอด อ.ปราณบุรีและ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานกว่า 20 ปี ภายหลังช้างป่าบุกทำลายพืชผลการเกษตรได้รับความเสียหาย ทำร้ายประชาชนเสียชีวิตขณะที่ช้างป่าจำนวนมากล้มตายผิดธรรมชาติ จากสาเหตุความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า โดยเฉพาะพื้นที่ ต.หาดขาม อ.กุยบุรี มีประชาชนและช้างป่าได้รับผลกระทบต่อเนื่อง

 

 

นายดิเรก กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีมีช้างป่ามากกว่า 350 ตัว ออกหากินกระจายเต็มพื้นที่ ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนพยายามวางแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่มีข้อยุติในระยะสั้น เนื่องจากมีปัญหาด้านบุคลากร เครื่องมือ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่ามีการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยใช้กล้องวงจรปิดติดตามการหากินของช้างในระบบเรียลไทม์ แต่การขับไล่ช้างป่าออกจากพื้นที่การเกษตรทำได้ล่าช้า นอกจากนั้นในช่วงวิกฤตจากภัยแล้งของทุกปีมีช้างจำนวนมาก ออกจากป่าเข้ามาหากินในพื้นที่การเกษตร

 

“แนวทางในระยะสั้นขอให้กรรมาธิการเสนอภาครัฐเร่งเยียวยาผลกระทบในพื้นที่การเกษตรรอบแนวเขตอุทยานฯ เร่งผลักดันช้างกลับไปหากินในพื้นที่ป่าธรรมชาติที่มีแหล่งน้ำและอาหารเพียงพอ ควรพิจารณาสร้างถนนสำหรับตรวจการณ์ตลอดแนวเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครผลักดันช้างป่า พิจารณาสร้างคูกันช้าง รั้วกันช้าง ที่มีมาตรฐาน เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าให้เพียงพอกับภารกิจ จัดสวัสดิการ ยานพานะ เครื่องมือสื่อสาร ทำประกันภัยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกับเจ้าหน้าที่ “นายดิเรก กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง