รีเซต

ชุดผิวเทียม ? บอดี้สูทกันแดด ผลิตด้วยเม็ดสีเมลานินในผิวหนัง

ชุดผิวเทียม ? บอดี้สูทกันแดด ผลิตด้วยเม็ดสีเมลานินในผิวหนัง
TNN ช่อง16
12 กรกฎาคม 2567 ( 11:21 )
41

มาคา บาร์เรอรา (Maca Barrera) นักออกแบบผู้จบการศึกษาจากเซนทรัล เซนต์ มาร์ตินส์ (Central Saint Martins) สถาบันที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตนักออกแบบระดับโลกจากประเทศอังกฤษ สรรค์สร้างผลงานความคิดชุดบอดี้สูทที่ผลิตด้วยเม็ดสีเมลานินในผิวหนัง ทางเลือกใหม่ในการป้องกันแสงแดด ภายใต้โปรเจกต์ “เดอะ เมลแวร์” (The Melwear project)


The Melwear project เป็นโครงการที่เกิดขึ้นด้วยแนวคิดว่า อนาคตจะเป็นอย่างไรหากมนุษย์สามารถสวมผิวหนังเพิ่มอีกชั้นได้ จนเกิดเป็นไอเดียสุดล้ำอย่างเสื้อผ้ากันแดดจากเม็ดสีเมลานินที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผิวของมนุษย์ ซึ่งอาจจะมาแทนที่การใช้ครีมกันแดดที่โดยทั่วไปแล้วจะมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม


ผลงานความคิดดังกล่าวจะอาศัยเทคโนโลยีหลัก 2 อย่าง ได้แก่ การสังเคราะห์เมลานินหรือเม็ดสีด้วยแบคทีเรีย (Biosynthesis of melanin within bacteria) และการพิมพ์เนื้อเยื่อเทียม (Bioprinting of artificial tissues) ด้วยเซลล์ที่มีชีวิต


ในปัจจุบัน นักชีววิทยาสังเคราะห์ได้เพาะแบคทีเรียที่ผลิตเมลานินในห้องปฏิบัติการและทำการทดลองวิธีต่าง ๆ เพื่อสกัดเม็ดสี โดยในบางครั้งยังใช้ศาสตร์ด้านพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) เพื่อเพิ่มผลผลิต แม้ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่สามารถผลิตเมลานินได้ก็ตาม แต่สาเหตุที่เลือกใช้แบคทีเรียนั้นเป็นเพราะธรรมชาติของแบคทีเรียที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทำให้

ผลิตเมลานินได้จำนวนมากขณะที่ใช้ต้นทุนต่ำ เม็ดสีเมลานินชีวภาพที่ย่อยสลายได้นี้สามารถนำมาใช้แทนสีย้อมผ้าสังเคราะห์ที่อาจเป็นอันตราย อีกทั้งยังมีศักยภาพที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในเครื่องสําอาง ชีวการแพทย์ (biomedicine) และศาสตร์การผลิตวัสดุ (materials science) ได้อีกด้วย


สำหรับ The Melwear project บาร์เรอรา ได้นำหนึ่งในคุณสมบัติพิเศษของเมลานินนั่นคือการดูดซับแสงยูวีมาใช้ประโยชน์และรังสรรค์เป็นแนวคิดชุดบอดี้สูทที่สามารถป้องกันแสงยูวีได้ ประกอบกับเทคโนโลยีไบโอพรินติง (bioprinting) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักนำมาใช้ในการสร้างเนื้อเยื่อเทียม ทำให้ชุดดังกล่าวจะเป็นดั่งผิวหนังอีกชั้นหนึ่งให้แก่ผู้สวมใส่จริง ๆ หรือเรียกว่าเป็นชุดผิวเทียมก็ว่าได้


นอกจากนี้ เมลานินในชุดยังทำหน้าที่คล้ายเซ็นเซอร์ตรวจจากระดับแสงยูวี เพราะเมื่อเมลานินในชุด Melwear จะตอบสนองและมีสีเข้มขึ้นเมื่อเจอกับแสงยูวี เลียนแบบกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินในผิวหนังของมนุษย์ในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่า


อย่างไรก็ดี แม้ The Melwear project จะยังไม่มีชุดต้นแบบที่ใช้งานได้ แต่โครงการของบาร์เรอราก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก อาทิ การเพาะแบคทีเรียผลิตเมลานินและการทดลองมากมายที่ Central Saint Martins และการทดสอบเทคโนโลยีการพิมพ์ชีวภาพผ่านความร่วมมือกับสถาบันฟรานซิส คริก (Francis Crick Institute) สถาบันชีวการแพทย์ชื่อดังจากอังกฤษ คงต้องติดตามความคืบหน้าของนวัตกรรมเสื้อผ้าแห่งอนาคตนี้ต่อไป


ที่มาข้อมูล  Dezeen

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง