รีเซต

ชี้ Hate Speech ในเมียนมายังเฟื่องฟูบนเฟซบุ๊ก

ชี้ Hate Speech ในเมียนมายังเฟื่องฟูบนเฟซบุ๊ก
มติชน
19 พฤศจิกายน 2564 ( 07:00 )
67

สำนักข่าวเอพีรายงานว่าเฟซบุ๊ก เครือข่ายสังคมออนไลน์รายใหญ่ของโลก ยังมีปัญหาในการตรวจสอบและควบคุมการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังที่เรียกกันว่า Hate Speech และข้อมูลที่ผิดๆ บนแพลตฟอร์มของตนเองในกรณีสถานการณ์ในเมียนมา โดยอ้างอิงมาจากเอกสารภายในของเฟซบุ๊กเอง

 

สามปีก่อนหน้านี้บริษัทได้จัดทำรายงานซึ่งพบว่า เฟซบุ๊กถูกใช้เพื่อการปลุกระดมให้เกิดความแตกแยกและกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงหรือการคุกคามกันในเมียนมา จึงได้สัญญาว่าจะจัดการให้ดีกว่านี้และพัฒนาเครื่องมือบางอย่างรวมถึงกำหนดนโยบายที่จะจัดการกับ Hate Speech หลังถูกกล่าวหาว่าเฟซบุ๊กมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงทางชาติพันธุ์และศาสนาขึ้นกับชาวโรฮีนจาในเมียนมา

 

อย่างไรก็ดีการปฎิบัติอันไม่สมควรดังกล่าวยังคงอยู่ และยังถูกนำไปใช้หาประโยชน์จากผู้ที่มีเจตนาร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาได้เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นทั่วประเทศ

 

หากเข้าไปดูในเฟซบุ๊กวันนี้ ไม่ยากเลยที่จะพบข้อความข่มขู่ว่าจะฆ่าหรือข่มขืนในเมียนมา นอกจากนี้ยังมีข้อความของกลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพ หรือการโพสต์ที่อยู่ของทหารซึ่งแปรพักตรรวมถึงภาพของบุคคลในครอบครัว ไปจนถึงการใช้ถ้อยคำอย่าง “อย่าจับเป็น” ใต้ภาพทหารควบคุมตัวคนที่ถูกปิดตา

 

แม้จะยังคงมีประเด็นเหล่านี้แต่เฟซบุ๊กเห็นว่าการให้บริการในเมียนมากลายเป็นตัวอย่างที่จะนำไปใช้ได้ทั่วโลกและเป็นที่ทดสอบเทคโนโลยีใหม่ในการควบคุมการใช้ Hate Speech และข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่างๆ

 

โดยเอกสารภายในของเฟซบุ๊กแสดงให้เห็นว่า บริษัทได้เพิ่มความพยายามในการจัดการกับ Hate Speech ในเมียนมา อย่างไรก็ดีเครื่องไม้เครื่องมือและยุทธศาสตร์ในการดำเนินการเช่นนั้นกลับไม่เคยถูกนำมาใช้ให้บรรลุผล และพนักงานของเฟซบุ๊กหลายคนเคยเตือนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

ในเอกสารการตรวจสอบการปฏิบัติงานภายในของเฟซบุ๊กเองรับว่า ยังพบช่องว่างในการดูแลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเมียนมาและเอธิโอเปีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่ขณะนี้อาจไม่เพียงพอ

 

กระนั้นก็ดีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิดิจิทัลในเมียนมาและนักวิชาการยังเห็นว่า เฟซบุ๊กยังสามารถที่จะพัฒนาการให้บริการให้ดีขึ้นได้ ซึ่งรวมถึงการเปิดกว้างเกี่ยวกับเนื้อหาที่เป็นกลาง การถอดหรือลบเนื้อหาบางอย่าง และการตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชนชาวเมียนมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง