รีเซต

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ฮ่องกง มั่นคงบนบ่ายักษ์

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ฮ่องกง มั่นคงบนบ่ายักษ์
มติชน
14 กรกฎาคม 2563 ( 01:08 )
69

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ฮ่องกง มั่นคงบนบ่ายักษ์

ครั้งหนึ่ง ฮ่องกง เคยได้ชื่อว่าเป็นเขตปกครองที่มีระบบกฎหมาย ระบบการปกครอง ที่เป็นเสรี รับประกันสิทธิของพลเมืองทุกคนมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

ระบบกฎหมายของฮ่องกง ย่อส่วนลงมาจากระบบกฎหมายเดิมที่ของประเทศอังกฤษ เป็นหนึ่งในหลายๆ ประการที่ชาวฮ่องกงสามารถหยิบขึ้นมาอวดอ้างได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ทั้งหมดนั้นพลิกผัน กลับหน้ามือเป็นหลังมือ ในทันทีที่เข็มนาฬิกากระดิกผ่านเวลา 23.00 น.ของวันที่ 30 มิถุนายน 2020 กำหนดเวลาบังคับใช้ “กฎหมายความมั่นคง” ฉบับใหม่ ที่ร่างโดยปักกิ่ง ให้ความเห็นชอบโดยสภาประชาชนจีน เมื่อ 6 สัปดาห์ก่อน แล้วผ่านมติของสภานิติบัญญัติ เขตปกครองพิเศษฮ่องกงอย่างรวดเร็ว

กฎหมายนานาที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงแต่เดิมของฮ่องกง ไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป

มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ” ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายใหม่นี้ ภายใต้เงื่อนไขว่า คณะกรรมการชุดนี้ตกอยู่ภายใต้ “การกำกับดูแลโดยรัฐบาลกลาง” ที่ปักกิ่ง

นั่นหมายความว่า การตีความกฎหมายดังกล่าวไม่ว่าจะในทางหนึ่งทางใด ต้องขึ้นอยู่กับทางการจีนโดยสิ้นเชิง

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเคยต้องลอบเข้ามาทำหน้าที่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ในฮ่องกง สามารถดำเนินการใดๆ ได้อย่างเปิดเผย และอย่าง “เป็นทางการ”

เจ้าหน้าที่เหล่านี้ สามารถจัดทำ ติดตั้งระบบ “สอดแนม” ซึ่งรวมถึงการดักฟังโทรศัพท์ ต่อเป้าหมายที่ตกเป็น “ผู้ต้องสงสัย” ได้ทุกคน และยังสามารถ “ควบคุมตัว” ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ไว้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ประกันตัว

การไต่สวนคดีสามารถดำเนินเป็นความลับได้หากต้องการ การพิพากษาคดี ขึ้นอยู่กับองค์คณะผู้พิพากษา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบรรดาคณะลูกขุนที่ได้รับการคัดสรรมาอีกต่อไปแล้ว

แม้แต่คณะลูกขุนพิเศษที่จำเป็นต้องมี ก็ถูกกำหนดให้แต่งตั้งด้วยการคัดเลือกของ ผู้บริหารฮ่องกง ซึ่งแน่นอนเป็นผู้บริหารสูงสุดในเขตปกครองพิเศษนี้ที่ทางการปักกิ่งเป็นผู้เลือกและสนับสนุน

ผู้ละเมิดกฎหมายความมั่นคงใหม่นี้ “ส่วนใหญ่” ต้องถูกส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีบนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ถึงที่สุดแล้วจะลงเอยอย่างไร

กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ถือว่า การดำเนินการเพื่อ “แบ่งแยกดินแดน”, การ “บ่อนทำลาย” ระบอบการปกครอง, และการ “ก่อการร้าย” เป็นความผิดร้ายแรง

ปัญหาอยู่ตรงที่ กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ให้นิยามจำเพาะเจาะจงลงไปเอาไว้ ทำให้สามารถตีความครอบคลุมได้กว้างขวางอย่างยิ่ง

การส่งเสริมประชาธิปไตย หรือการเรียกร้องความเป็นอิสระ และการชุมนุมประท้วง แสดงความคิดเห็น โดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถถูกตีความว่าเข้าข่ายความผิดในบทบัญญัติดังกล่าวได้มากกว่า 1 ข้อทั้งสิ้น

ในวันแรกๆ ของการบังคับใช้กฎหมายนี้ในฮ่องกง ชาวฮ่องกง 9 คน ถูกจับกุมในข้อหากระทำการอันเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติในกฎหมายฉบับนี้

รายแรกสุดคือ ชายผู้หนึ่ง ซึ่งนำเอาธงอิสรภาพฮ่องกงมาโบกสะบัดในระหว่างการชุมนุมต่อต้านกฎหมายฉบับนี้

อีกรายหนึ่งคือ ชายหนุ่มที่สวมเสื้อยืด “ฟรี ฮ่องกง” หรือ “ฮ่องกงเสรี” เมื่อถูกตรวจค้นก็พบว่า ในตัวพกพาแผ่นป้ายผ้า เรียกร้องให้ปลดปล่อยฮ่องกงสู่ความเป็นเสรีอยู่ในตัว

ผู้หญิงที่ถูกจับกุมรายหนึ่ง ก็แสดงข้อความในท่วงทำนองเดียวกัน ทั้งหมดนี้ถูกเหมารวมเอาว่าเป็นการ “บ่อนทำลายความเป็นเอกภาพแห่งชาติ” ด้วยกันทั้งสิ้น

ผู้คนอีกหลายร้อยคนถูกจับกุมฐานกระทำผิดตามกฎหมายฮ่องกงแต่เดิม แต่สำนักงานตำรวจฮ่องกงแถลงเตือนเอาไว้ว่า ผู้ประท้วงรายใดก็ตามที่ตะโกนคำขวัญเรียกร้องความเป็นอิสระจากแผ่นดินใหญ่ อาจ “เข้าข่ายล่วงละเมิด” ข้อกำหนดเข้มงวดในกฎหมายใหม่

และย้ำเอาไว้ว่าทางตำรวจ “จะดำเนินการบังคับใช้บทบัญญัติตามกฎหมายใหม่นี้อย่างเคร่งครัด” และ “ใครก็ตามที่ถูกตรวจค้นและพบว่ามีธงฮ่องกงเสรีอยู่กับตัวหรืออยู่ในความครอบคนอง จะต้องถูกจับกุม”

ที่ถือว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายนี้ด้วยก็คือ การ “สมคบกับบุคคลต่างชาติ และกองกำลังภายนอก เพื่อกระทำการอันเป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติ” บทบัญญัตินี้อาจไม่กระไรนักสำหรับ “บุคคลต่างชาติ” ที่ถือสัญชาติของประเทศที่เป็นมิตรกับจีนแผ่นดินใหญ่

แต่จะต่างออกไปทันทีที่บุคคลดังกล่าว เป็นคนมาจากประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับการวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงบทบาทต่อต้านจีนในเวทีโลก การติดต่อสัมพันธ์ใดๆ กับบุคคลจากประเทศ “ปฏิปักษ์” เหล่านี้ ล้วนสามารถตีความได้ว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติได้ทั้งสิ้น

กฎหมายนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะพฤติกรรมของ “บุคคลที่ไม่มีถิ่นพำนัก” อยู่ในฮ่องกง หรือ “บุคคลที่ถือสัญชาติต่างประเทศ” ในฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังคลุมไปถึงพฤติกรรมของคนเหล่านั้นในต่างแดนใดๆ อีกด้วย

บุคคลที่มีพฤติกรรมต่อต้านดังกล่าว สามารถถูกจับกุมตัวได้ทันทีที่เดินทางเข้าฮ่องกงหรือจีน

โดยที่มีระวางโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต!

แคร์รี หล่ำ ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง บอกอย่างเต็มปากเต็มคำ ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้เห็นร่างกฎหมายนี้มาก่อนว่า ชาวฮ่องกงไม่มีอะไรต้องเป็นกังวลหรือกลัว เพราะ “สิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรม” ของพวกเขาจะยังคงอยู่ เช่นเดียวกับความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม และ “การปกครองตนเองในระดับสูง” จะยังคงได้รับความเคารพ

มีเพียง “คนที่ชอบล่วงละเมิดกฎหมายเพียงไม่กี่คน” เท่านั้นที่ตกเป็นเป้าของกฎหมายความมั่นคงใหม่นี้

จาง เซี่ยวหมิง รองผู้อำนวยการบริหารประจำสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊า บอกว่า

“วัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ ไม่ใช่เพื่อจัดการกับกลุ่มนิยมประชาธิปไตยในฮ่องกงด้วยการจินตนาการว่าคนเหล่านี้เป็นศัตรู เป้าประสงค์เป็นเพียงแค่เป็นการต่อสู้กับกลุ่มก้อนอาชญากรคับแคบที่ต่อต้านความมั่นคงแห่งชาติเท่านั้น”

แต่ในเวลาเดียวกัน คำอธิบายและประเมินสถานการณ์ของคนเหล่านี้เองก็สะท้อนให้เห็นว่า คำกล่าวอ้างเหล่านั้นเป็นเพียงวาทกรรมหรูๆ เท่านั้นเอง

ตัวอย่างเช่น จาง เซี่ยวหมิง ยังคงยืนกรานในเวลาเดียวกันว่า แม้จะยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ “ความคิดเห็นที่แตกต่าง” ดังกล่าวนั้นต้องไม่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็น “ข้ออ้าง” สำหรับการ “เปลี่ยนสถานะของฮ่องกงไปให้เป็นเหมือนสวรรค์ที่ปลอดภัยสำหรับกองกำลังต่อต้านจีน”

รองผู้อำนวยการจาง ยังอาศัยข้ออ้างแปลกพิสดารในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังจากกฎหมายใหม่นี้มีผลบังคับใช้ว่า การส่งตัวผู้กระทำผิดไปดำเนินคดีในแผ่นดินใหญ่ เป็น “ความจำเป็น”

จำเป็นเพราะ “ฮ่องกงไม่ควรคาดหวังว่าจะนำเอากฎหมายของแผ่นดินใหญ่มาบังคับใช้”

กฎหมายที่ว่านั้น มีบทบัญญัติห้ามการสวมเสื้อยืดที่มีข้อความเรียกร้องหรือนิยมแนวทางอิสระ หรือตะโกนคำขวัญของกลุ่มนิยมอิสรภาพของฮ่องกง!

ไม่อยากบังคับใช้กฎหมายที่ว่านี้ เลยต้องส่งผู้กระทำผิดไปดำเนินคดีในพื้นที่ที่มีกฎหมายนี้แทน อย่างนั้นหรือ?

กฎหมายความมั่นคงเคยถูกจีนใช้เป็นอาวุธในการกำหราบ กดขี่ มาช้านานแล้ว หวัง ย่าฉิว นักเคลื่อนไหวของฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ซึ่งยืนยันว่า ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าจีนใช้กฎหมายทำนองนี้ในแนวทางบิดเบือนมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น ใช้เพื่อพุ่งเป้าไปที่ฝ่ายค้าน หรือกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวอุยกูร์ ด้วยข้อหาที่ “ไม่มีอยู่จริง” เป็นต้น

สุดท้าย ภายใต้การดำเนินการอย่างบิดเบือนโดยข้อหา แบ่งแยกดินแดน หรือ บ่อนทำลาย “เสรีภาพในการแสดงออกก็กลายเป็นอาชญากรรม”

หวัง ย่าฉิว มั่นใจว่ากรณีของฮ่องกงก็ไม่มีวันแตกต่างออกไปจากนั้น

ในกรณีเช่นนี้ ทางการจีนจำเป็นต้องมี “ผู้ต้องหา” ระดับบิ๊กเพื่อดำเนินคดีให้เป็น “กรณีตัวอย่าง”

ในกรณีของฮ่องกง เหยื่อรายใหญ่ที่ว่านี้ ไม่มีใครจะดีไปกว่า “จิมมี่ ไล” เจ้าของและผู้พิมพ์ผู้โฆษณา แอปเปิล เดลี ซึ่งถูกทางการฮ่องกงจับกุมตัวพร้อมกับแกนนำในการประท้วงใหญ่ล่าสุด ในข้อหาว่าอยู่เบื้องหลังการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงเมื่อปีที่ผ่านมา

ว่ากันว่า ข้อกล่าวหาที่มีต่อ จิมมี่ ไล นั้นคลุมเครือ ไม่ชัดเจน แต่ผู้สันทัดกรณีการเมืองจีน-ฮ่องกง หลายคนเชื่อว่า กรณีนี้สามารถเป็น “คดีตัวอย่าง” ของทางการปักกิ่งได้ โดยที่สามารถการันตีได้ว่าผลจะลงเอยด้วยคำพิพากษาว่า “มีความผิดจริง” และกำหนดบทลงโทษขนานหนัก

นั่นคือการติดคุกยืดเยื้อยาวนานในแผ่นดินใหญ่จีน

นอกจากนักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรงจะได้รับผลกระทบแล้ว บทบัญญัติในกฎหมายความมั่นคงใหม่นี้ยังส่งผลคุกคามต่อนักวิชาการ และความเป็นอิสระของศิลปินอีกด้วย พอๆ กับที่นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ก็เกรงว่าการนัดหยุดงานจะทำให้พวกตนกลายเป็นเหยื่อกฎหมายนี้

กลุ่มศรัทธาศาสนาต่างๆ ก็กังวลเช่นเดียวกัน ในขณะที่บางคนชี้ว่า แม้แต่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ก็อาจได้รับผลกระทบ

ไฟแนนเชียล ไทม์ส ระบุไว้เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาดังนี้

“นักลงทุน นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ในฮ่องกง หวั่นวิตกว่า กฎหมายความมั่นคงใหม่จะยิ่งทำให้แวดวงการวิเคราะห์วิจัยสำหรับให้บริการต่อลูกค้า จำเป็นต้องดำเนินไปภายใต้การเซ็นเซอร์ตัวเองมากยิ่งขึ้น

“และยิ่งทำให้ข้อกังขาต่ออนาคตของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของโลกเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย”

นักสังเกตการณ์จีนบางคนอุปมาสถานการณ์ฮ่องกงในยามนี้เอาไว้ว่า เหมือนคนแคระถูกจับไปวางไว้บนบ่ายักษ์

ความมั่นคงปลอดภัย มีมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่หมดสิ้นไปก็คือ ความเป็นตัวของตัวเอง อิสระเสรีที่จะดำเนินการตามเจตจำนงแห่งปวงชนของตนเอง

หลายคนคาดว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามหลังมาหลังการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงใหม่ในฮ่องกงก็คือ การสิ้นสุดการเป็นเขตที่มีสถานะพิเศษ ตามกฎหมายอเมริกัน ตามด้วยการสิ้นสุดสถานะของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก

ไม่ว่าสถานการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม ความเจ็บปวดของชางฮ่องกงย่อมคาดหมายได้ สุดท้ายก็ได้แต่ยอมรับ

สำหรับจีน ผลเสียหายในทางเศรษฐกิจไม่ว่ามากมายเพียงใด ก็นับว่าคุ้มค่า และเป็นต้นทุนที่เต็มใจจะจ่าย

ขอให้ฮ่องกงมั่นคงบนบ่ายักษ์ก็เพียงพอแล้ว!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง