รีเซต

เปิดอาการผู้ป่วยติดเชื้อโควิดโอมิครอน แต่ไม่ได้ฉีดวัคซีน พบอาการหนัก-เชื้อลงปอด

เปิดอาการผู้ป่วยติดเชื้อโควิดโอมิครอน แต่ไม่ได้ฉีดวัคซีน พบอาการหนัก-เชื้อลงปอด
TNN ช่อง16
7 มกราคม 2565 ( 20:31 )
381

วันนี้ (7 ม.ค.65) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เตือน อย่าเรียกอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ว่า "เล็กน้อย" แม้ว่า “โอมิครอน” อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงน้อยกว่า “เดลต้า” แต่ "คลื่นยักษ์สึนามิ" ของจำนวนผู้ติดเชื้อ "โอมิครอน" ที่มีมหาศาล กำลังเป็นภาระหนักของระบบสาธารณสุขทั่วโลก  

ขณะที่ แพทย์ไทยเผยข้อมูลอาการผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด19สายพันธุ์โอมิครอน ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอาการจะรุนแรงกว่าผู้ฉีดวัคซีน ดังนั้นต้องระวังตนเองอย่าติดเชื้อ เพราะโอมิครอน ติดง่ายมาก และสูตรฉีดวัคซีนไม่ว่าสูตรไหนก็มีโอกาสติดเชื้อ

จากกรณีที่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เปิดเผยข้อมูลโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) แม้มีความสามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น แต่เชื้ออ่อนแรงลง ไม่ทำให้คนที่ติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิต

พญ.วรฉัตร เรสลี อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศิครินทร์ โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ เตือนทุกคนว่าอย่าประมาท แม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว จะบอกว่าให้ติดเชื้อไป แต่อย่าลืมว่าสายพันธุ์เดลต้ายังอยู่ 

และติดแล้วทุกสายพันธุ์ไม่ใช่จะอาการเบาทุกคน ดังนั้นจึงควรป้องกันตนเองไม่ติดเชื้อดีที่สุด และต้องระวังอย่างสูงสุด เพราะสายพันธุ์โอมิครอน ติดเชื้อง่ายแม้ฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม



1.ฉีด 2 ซิโนแวค + 2 ซิโนฟาร์ม

2.ฉีด 2 ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า + โมเดอร์นา

3.ฉีด 2 ซิโนฟาร์ม + ไฟเซอร์ + โมเดอร์นา

4.ฉีดซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม + โมเดอร์นา

5.ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม + ไฟเซอร์

6.ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม + โมเดอร์นา

7.ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม + โมเดอร์นา 2 เข็ม

8.ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม + โมเดอร์นา 1 เข็ม

9.ฉีดไฟเซอร์ 3 เข็ม

10.ฉีดโมเดอร์นา 3 เข็ม

11.ฉีดจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 1 เข็ม + โมเดอร์นา 1 เข็ม


และที่สำคัญสำหรับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และติดเชื้อโอมิครอน พบว่าจะมีอาการรุนแรงกว่าคนที่ฉีดวัคซีน ได้แก่ อาการไข้สูงนาน เชื้อลงปอด อาการไอปนเลือดแบบไม่ลงปอดได้บ่อย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (ในบางคน) แต่ยังไม่มีเคส ICU

แต่ยังไม่รวมถึงเรื่องภาวะ Long Covid ซึ่งโอมิครอนยังไม่มีข้อมูล เช่น อาการ ผมร่วง ผิวแห้ง เหนื่อยง่าย impotent ปวดข้อเรื้อรัง ดังนั้น การไม่ติดเชื้อจึงเป็นการดีที่สุด รวมถึงรีบรับการฉีดวัคซีน เพื่อลดอาการรุนแรง


ทั้งนี้ หากดูกราฟข้อมูลทั้งในสหรัฐฯ และอังกฤษ พบว่าสายพันธุ์โอมิครอน เริ่มทำให้เกิดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าเวฟที่ผ่านมา หรือช่วงฤดูหนาวปีที่แล้ว และเริ่มมีผู้ป่วยเข้า ICU มากขึ้น

ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงอาการ Long Covid ที่พบในผู้ป่วยโควิดที่หายแล้วพบได้หลายรูปแบบ  ที่มากที่สุดคือ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ผมร่วง นอนไม่หลับ และอื่นๆ ตามลำดับ


ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเชิงลึกที่อธิบายได้ว่า กลไกใดหลังติดโควิดแล้วทำให้ผู้ป่วยมีอาการต่างๆ เหล่านี้ได้ยาวนานหลังไวรัสหมดไปจากร่างกายแล้ว บางคนเชื่อว่าเป็นผลจากแอนติบอดีบางชนิดที่ร่างกายสร้างขึ้นมาต่อต้านการติดเชื้อ และผลพลอยได้คือ ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ 


ข้อมูลที่ออกมาล่าสุดชัดเจนว่า Long Covid เกิดขึ้นในคนที่ได้รับวัคซีนครบ "น้อยกว่า" คนที่ไม่ได้รับวัคซีน แม้ว่าคนที่ได้รับวัคซีนอาจจะเคยติดเชื้อและมีอาการป่วยด้วย แสดงว่าภูมิจากวัคซีนมีส่วนช่วยยับยั้งหรือ ป้องกันกลไกการเกิด Long Covid ได้ในระดับหนึ่ง


ปัจจุบันข้อมูล Long Covid จากโอมิครอนยังไม่มีออกมาเปรียบเทียบกับโควิดตัวอื่นๆ แต่ด้วยจำนวนคนที่ติดโควิดมากกว่าการระบาดรอบก่อนๆ หลายคนเริ่มกังวลว่า Long Covid จะเป็นปัญหาหลักจากการติดโอมิครอน หวังว่าภูมิจากวัคซีนจะช่วยลดปัญหานี้ลงได้ไม่มากก็น้อย และถ้าโชคดีจริงๆ หวังว่าการกลายพันธุ์ของโอมิครอนจะทำให้กลไกการเกิด Long Covid เกิดได้น้อยลง


ขณะที่ ดร.เทโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO แถลงเมื่อวานนี้ (6 ม.ค.) เตือนไม่ให้อธิบายอาการป่วยของผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ “โอมิครอน” ว่า เป็นอาการ “เล็กน้อย”

แม้จะดูเหมือนว่า โอมิครอนทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับ “เดลต้า” โดยเฉพาะในคนที่ฉีดวัคซีนต้านโควิดครบแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ควรจะจัดประเภทโอมิครอนว่า ทำให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อยแต่อย่างใด

ผอ.องค์การอนามัยโลก ยังเตือนด้วยว่า โอมิครอนยังคงมีฤทธิ์เหมือนกับโควิดกลายพันธุ์ตัวก่อนๆ ยังสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลได้ จนถึงทำให้เสียชีวิตก็ได้ 

และการที่จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นมากและอย่างรวดเร็ว จนทุบสถิติสูงสุดในหลายพื้นที่ในโลก จนเปรียบเหมือนกับ “คลื่นยักษ์สึนามิโควิด” ที่ทั้งแรงและเร็วนั้น กำลังทำให้ระบบการรักษาพยาบาลทั่วโลก ต้องตกอยู่ใต้แรงกดดันอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง  


จากข้อมูล CDC สหรัฐฯ เปรียบการแพร่เชื้อโอมิครอนเหมือน "โรคหัด" ซึ่งแพร่ในอัตรา 1 ต่อ 8-15 คน ดังนั้น รัฐบาลแต่ละประเทศต้องทำงานหนักเพื่อเร่งสกัดการระบาดอีกครั้ง

และจากกรณีผู้ใช้ TikTok รายหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า @praewzim ได้โพสต์คลิปวิดีโอขณะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เนื่องจากเธอติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งพบว่าตาดำของเธอนั้นกลายเป็นสีม่วง เพราะเกิดจากการกินยาฟาวิพิราเวียร์ไปวันที่ 2

ความคืบหน้าล่าสุด แฟนเพจฟซบุ๊ก "หมอยาพาเพลิน" ได้เผยแพร่บทความของ ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า

“ตาเรืองแสง ตาเปลี่ยนสี จากการใช้ Favipiravir เกิดจากการสะสมของยาบริเวณอิลาสติน คอลลาเจน และเม็ดสีเมลานินในเนื้อเยื่อร่างกาย จากการที่ตัวยา favipiravir เอง หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ในยาเช่น titanium dioxide, ferric oxide yellow มีคุณสมบัติเรืองแสงได้ บางรายงานพบผู้ป่วยตาพร่ามัวชั่วคราวร่วมกับการเห็นแสงสะท้อนสีฟ้าจากดวงตาภายใต้แสง UV หลังใช้ยาไป 2 วัน

ความเข้มข้นของระดับยาในเลือดสัมพันธ์กับการสะสมของยาในร่างกายและการเรืองแสงของตา เส้นผม เล็บ โดยมีรายงานว่าขนาดยาที่ทำให้เกิดการเรืองแสงพบได้ตั้งแต่ 5,600-8,000 มิลลิกรัมต่อช่วงการรักษา แต่ไม่ต้องกังวลไปนะครับ อาการตาเรืองแสงหรือตาสีฟ้าไม่มีรายงานว่าเป็นอันตราย ตาจะกลับมาเป็นสีปกติเองหลังหยุดยา"

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง