รีเซต

เที่ยวงาน ยิ่งใหญ่แห่งปี นมัสการ องค์พระสมุทรเจดีย์' สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่เมืองปากน้ำ

เที่ยวงาน ยิ่งใหญ่แห่งปี นมัสการ องค์พระสมุทรเจดีย์' สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่เมืองปากน้ำ
มติชน
15 ตุลาคม 2563 ( 15:28 )
284

ในช่วงเทศกาลของวันออกพรรษาของไทย หลายจังหวัดหลายพื้นที่มักมีการจัดงานประเพณีท้องถิ่น ที่สร้างชื่อเสียงให้ผู้คนทั่วไปรู้จักถึงสถานที่เหล่านั้นกันมากขึ้น จังหวัดสมุทรปราการ หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันติดปากว่า เมืองปากน้ำ ตั้งอยู่ติดกับกรุงเทพมหานคร ประมาณ 29 กิโลเมตร ด้วยสภาพเมืองที่เป็นพื้นที่หน้าด่าน และตั้งอยู่ติดกับชายทะเลทางด้านปากทะเลอ่าวไทย จึงทำให้เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันมักคุ้น อีกทั้งมีสถานที่ทั้งด้านการท่องเที่ยวและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย

 

อนึ่งที่สร้างความภาคภูมิใจของคนสมุทรปราการ คือความเก่าแก่ของ องค์พระสมุทรเจดีย์กลางน้ำ แห่งนี้ที่เริ่มสร้างขึ้นใน รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ผู้สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์หรือ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้างเมืองสมุทรปราการและป้อมปราการไว้ป้องกันข้าศึกทางชายฝั่งทะเลด้านบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอ่าวไทยไว้ในสมัยนั้น ด้วยพระองค์ทรงหวังจะให้สวัสดิภาพของชาติและพระพุทธศาสนาร่วมเย็นเป็นยอดพระราชประสงค์ ให้อนุสาวรีย์เป็นที่ระลึกถึงพระราชกรณียกิจครั้งนี้ ต่อมาพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ราชวงศ์จักรี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชและพระยาพระคลังเป็นแม่กองจัดสร้างพระเจดีย์ขึ้นกลางเกาะตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา โดยเริ่มลงมือก่อสร้างพระสมุทรเจดีย์ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2370 แล้วเสร็จวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2371 รวมเวลาก่อสร้าง 211 วัน แต่เดิมที่ประชาชนทั่วไปพบเห็นว่าตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำดังนั้นจึงมักเรียกกันติดปากว่า พระสมุทรเจดีย์กลางน้ำŽ เนื่องจากตั้งอยู่กลางน้ำ แต่ทว่าสภาพภูมิประเทศและสภาพของบ้านเมืองเปลี่ยนไป พื้นที่ที่เคยเป็นเกาะอยู่นั้นโคลนดินได้ยาวยืดมาติดต่อกัน จนพื้นแผ่นดินเชื่อมติดต่อกับชายฝั่ง ต.ปากคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ จึงไม่หลงเหลือสภาพของพระเจดีย์ที่ตั้งอยู่กลางน้ำตามภาพประวัติศาสตร์ของจังหวัดสมุทรปราการไปแต่ก็ยังเป็นพระเจดีย์ที่เหลือเพียงชื่อว่า พระสมุทรเจดีย์Ž เพียงเท่านั้น 

 

 

พระสมุทรเจดีย์ เดิมสร้างเป็นแบบต่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ฐานล่างกว้างด้านละ 10 วา สูงจากฐานล่างไปถึงยอด 13 วา 3 ศอก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ราชวงศ์จักรี ทอดพระเนตรสภาพทั่วๆ ไปของพระสมุทรเจดีย์แล้ว จึงทรงมีพระราชประสงค์สถาปนาให้สูงขึ้นเพื่อเรือต่างชาติที่แล่นผ่านปากแม่น้ำเจ้าพระยาด้านอ่าวไทย จัดสร้างวิหารใหญ่หันหน้าไปสู่ทะเล สร้างศาลาเก๋งจีน หอเทียน หอระฆัง พระวิหาร และพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรพร้อมหลักผูกเรือสินค้ารอบองค์พระสมุทรเจดีย์ และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 12 องค์จากพระบรมมหาราชวังแห่มาทางชลมารคมาบรรจุไว้ตามโบราณราชประเพณี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการจัดงานสมโภชเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2403 จนถือเป็นพระเพณีรักษาสืบทอดมาถึงทุกวันนี้

 

 

จนต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2498 คณะรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการบูรณะพระสมุทรเจดีย์ขึ้น โดยให้ร่วมกับจังหวัดสมุทรปราการและกรมโยธาเทศบาลในสมัยนั้นดำเนินการทำถนนเข้าออกบริเวณองค์พระสมุทรเจดีย์ และถมดินริมถนนสายที่เชื่อมต่อบริเวณนั้นเป็นที่จอดรถ และขยายพื้นที่โดยรอบขององค์พระสมุทรเจดีย์ให้กว้างใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ราษฎรเดินทาง มามนัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ ซึ่งจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ขององค์พระสมุทรเจดีย์แห่งนี้มายาวนาน จังหวัดสมุทรปราการจึงจัดให้มีงานมนัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ เป็นงานที่สำคัญประจำปีของจังหวัดสมุทรปราการ โดยจะกำหนดให้ในช่วงวันแรม 5 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี เป็นวันเริ่มงานและก่อนเริ่มงานทุกปีในช่วงวันแรม 2 ค่ำเดือน 11 นั้น พุทธศาสนิกชน ชาวจังหวัดสมุทรปราการก็พร้อมใจกันประดิษฐ์ผ้าแดงผืนใหญ่ แล้วอัญเชิญไปทางเรือไปตามลำน้ำเจ้าพระยาเพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้กราบไหว้บูชาจนถึงตัวอำเภอพระประแดง จ.สมุทรปราการ และนำกลับมาทำพิธีทักษิณาวรรตรอบองค์พระสมุทรเจดีย์ ก่อนนำผ้าแดงขึ้นห่มรอบองค์พระสมุทรเจดีย์แสดงว่าเป็นการเริ่มต้น ของงานประเพณีมนัสการองค์พระสมุทรเจดีย์หรือพระเจดีย์กลางน้ำ ในอดีตของจังหวัดสมุทรปราการในแต่ละปีมานานกว่า 150 ปีแล้ว

 

 

จัดงานมนัสการองค์พระสมุทรเจดีย์และงานกาชาด ประจำปี 2563 คณะกรรมการจัดงานได้จัดประชุมแผนงานงานประเพณีมนัสการองค์พระสมุทรเจดีย์และงานกาชาดของจังหวัดสมุทรปราการในปีนี้ กำหนดจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม-18 ตุลาคม 2563 ภายในบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ และฝั่งตัวขององค์พระสมุทรเจดีย์ ต.ปากคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

 

ซึ่งคณะกรรมการจัดงานได้จัดกิจกรรมเพื่อเชิญชวนประชาชนเดินทางมาเที่ยวชมงานปีที่ยิ่งใหญ่ ร่วมสักการบูชาองค์พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่บนยอดขององค์พระสมุทรเจดีย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสมุทรปราการ ร่วมกราบไหว้ขอพรองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางห้ามสมุทร ที่ประดิษฐานภายในวิหาร พร้อมได้เที่ยวชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น ร่วมสนับสนุนการซื้อสลากช่วยเหลือเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรปราการชิงรางวัลสมนาคุณ การแสดงบนเวทีของเหล่าศิลปินตลอดทุกคืน การออกร้านจำหน่ายสินค้าจากชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล (OTOP การละเล่นพื้นบ้านและมหรสพสมโภชตลอดงานโดยไม่เก็บค่าบัตรผ่านประตู และร่วมกราบไหว้มนัสการองค์พระพุทธชินราชมงคลปราการ บริเวณศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ

 

ในการเดินทางไปมาเที่ยวงานปัจจุบันถือว่าสะดวกทั้งรถยนต์ ทางเรือ ที่พร้อมเปิดให้บริการประชาชนจำนวนมากที่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคนที่เดินทางมากันแบบตลอดคืน โดยเฉพาะช่วงการจัดงานเพื่อให้ประชาชนมาเที่ยวชมงานยิ่งใหญ่ของชาวสมุทรปราการด้วยรถไฟฟ้ามหานคร 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง