รีเซต

ฝนดาวตกเพอร์เซียส ฝนดาวตกที่ไม่เหมือนใคร

ฝนดาวตกเพอร์เซียส ฝนดาวตกที่ไม่เหมือนใคร
ข่าวสด
13 สิงหาคม 2563 ( 00:14 )
271

 ไม่มีใครอยากเดินฝ่ากลุ่มก้อนฝุ่นและขยะหรอก แต่บางที คุณอาจต้องแปลกใจว่าประสบการณ์นั้นงดงามแค่ไหน ขณะที่โลกเคลื่อนตัวผ่านกลุ่มก้อนขยะในห้วงจักรวาลช่วงกลางเดือน ส.ค. จะเกิดแสงสว่างวาบขึ้นในช่วงค่ำคืน นี่เป็นโอกาสของคุณที่จะรับชม "ฝนดาวตกเพอร์เซียส" ในช่วงวันแม่ปีนี้

 

ฝนดาวตกเพอร์เซียส คืออะไร

Getty Images
เราสามารถมองเห็น ฝนดาวตกเพอร์เซียส ได้จากทุกที่ในโลก

ในลักษณะเดียวกับโลก ดาวหาง Swift-Tuttle ก็เคลื่อนที่หมุนรอบดวงอาทิตย์เช่นกัน

"ในแต่ละปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ โลกเคลื่อนตัวเข้าชนกับเส้นทางของดาวหางนั้นและเศษชิ้นส่วนของดาวหางที่ลอยทิ้งอยู่เบื้องหลัง" เอ็ดเวิร์ด บลูมเมอร์ นักดาราศาสตร์จากเครือพิพิธภัณฑ์หลวงกรีนิช (Royal Museums Greenwich) อธิบาย

 

เมื่อ "เศษขยะในห้วงจักรวาล" หรือพวกน้ำแข็ง ฝุ่น และเศษหินขนาดเท่าเมล็ดข้าว จากดาวหาง ชนกับชั้นบรรกาศที่สูงขึ้นไป "มันจะลุกเป็นไฟเกิดเป็นผลลัพธ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ แม้ว่าบางทีจะเกิดขึ้นแค่เสี้ยววินาที"

 

บลูมเมอร์ บอกว่า "ฝนดาวตกเพอร์เซียส" มีความพิเศษเพราะว่า "เกิดขึ้นอย่างแน่นอนมาก และแม้จะเกิดขึ้นมากช่วงกลาง ส.ค. คุณสามารถเห็นมันได้ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. แล้ว"

 

เราสามารถมองเห็นฝนดาวตกนี้ด้วยได้ตาเปล่า และก็ควรคอยรอดูหลายวันติดต่อกัน เพราะบางวันอาจจะสวยเป็นพิเศษ

 

Getty Images
"ฝนดาวตกเพอร์เซียส" จากเมื่อปี 2015

บางครั้ง เศษชิ้นส่วนที่ดาวหางทิ้งไว้เบื้องหลังเป็นชิ้นใหญ่กว่าปกติ และ "หากคุณโชคดี อาจได้เห็นกลุ่มไฟลุกไหม้ที่รูปร่างแปลกแต่ก็น่าตื่นตาตื่นใจ" บลูกเมอร์ กล่าว แม้เขาจะตามดูฝนดาวตกนี้มาหลายปีแต่ก็เคยเห็นปรากฏการณ์พิเศษนั้นครั้งเดียวเป็นเวลาเพียงไม่กี่วินาทีด้วยหางตา

 

เพจเฟซบุ๊ก JAXA Thailand ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) แชร์โพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก "คนดูดาว stargazer" ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 3 หมื่นคน ที่ระบุว่า ฝนดาวตกเพอร์เซียส (Perseids) จะเกิดมากที่สุดวันพุธที่ 12 สิงหาคม 2563 เวลา 20:00-23:00 น. อัตราดาวตกสูงสุด 110 ดวงต่อชั่วโมง

 

"จุดกระจาย (radiant) หรือจุดศูนย์กลางของฝนดาวตกอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซียส (Perseus) จุดกระจายขึ้นที่กรุงเทพฯ เวลา 22:29 น. (จังหวัดอื่นเวลาอาจแตกต่างบ้างเล็กน้อย) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มุมทิศ (azimuth) 29 องศา จากทิศเหนือ" เพจเฟซบุ๊กดังกล่าวระบุ

 

คุ้มค่าต่อการรอคอยไหม

Getty Images
ฝนดาวตกเพอร์เซียส จากตุรกีเมื่อปี 2018

"แน่นอน !" บลูมเมอร์ กล่าว "ปิดไฟและรอดูเลย"

ฝนดาวตกเพอร์เซียส เป็นเหมือนการแสดงพลุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันเกิดขึ้นเยอะมากจนคนที่คอยเฝ้าสังเกตอยู่แบบไม่ต้องตั้งใจมากนักจะได้เห็นดาวตกมากถึง 100 ครั้งต่อชั่วโมง

 

และไม่ต้องกลัว แม้ว่าดาวตกจะพุ่งชนโลกด้วยความเร็ว 2.15 แสนกิโลเมตร/ชั่วโมง มันไม่ได้มีอันตรายอะไร

"ให้รางวัลกับตัวเอง ปูเสื่อ และก็นอนแหงนดูท้องฟ้า" บลูมเมอร์ กล่าว

"มันทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายมาก และสามารถมองเห็นได้จากทุกที่ในโลก"

 


Getty Images

เคล็ดลับดูฝนดาวตก

นักดาราศาสตร์ เอ็ดเวิร์ด บลูมเมอร์ แนะนำว่า :

  • เลือกมองไปทางท้องฟ้าฝั่งตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ ถ้าคุณรู้ดาราศาสตร์ดี ให้มองไปทางกลุ่มดาวเพอร์เซียส (Perseus) ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย (Cassiopeia) หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม กลุ่มดาวค้างคาว ถ้าไม่ทราบ คุณอาจจะลองดาวโหลดแอปพลิเคชันช่วยได้
  • หาที่รอดูตั้งแต่ช่วงเวลาโพล้เพล้ รอจนฟ้ามืดสนิท ปิดไฟที่จะมารบกวนให้หมด ไม่ว่าจะเป็นไฟในบ้าน หรือว่าแสงสว่างจากมือถือ
  • ผ่อนคลาย และนอนดูของขวัญจากธรรมชาติ คุณกำลังจะได้เห็นดาวตกราว 100 ครั้งต่อชั่วโมง บางทีคุณอาจจะได้เห็นกลุ่มก้อนไฟก็เป็นได้

 

ที่มาของชื่อ

Getty Images

บลูมเมอร์เล่าว่า เราเรียกว่าฝนดาวตกเพอร์เซียส เพราะมันมีที่มาจากกลุ่มดาวเพอร์เซียส แต่ในอดีต ก็มีวัฒนธรรมอื่นที่เคยให้ชื่อฝนดาวตกนี้แตกต่างกันออกไป เช่น "Tears of St Lawrence" หรือน้ำตาของนักบุญลอว์เรนซ์ ซึ่งอ้างจาก ลอเรนเทียส หนึ่งในพระคริสต์ 7 คนที่โดนสังหารโดยชาวโรมันเมื่อปี ค.ศ. 258

 

ด้วยความที่นักบุญผู้นี้ถูกเผาทั้งเป็นเมื่อวันที่ 10 ส.ค. คติความเชื่อของชาวเมดิเตอร์เรเนียน ระบุว่า ดาวตกเหล่านี้เป็นประกายไฟมาจากการเผานักบุญลอว์เรนซ์ในคราวนั้น

 

อย่างไรก็ดี มีบันทึกทางดาราศาสตร์ถึงปรากฏการณ์นี้ในหลายวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซีย บาบิโลน อียิปต์ เกาหลี หรือญี่ปุ่น

เชื่อกันว่าปรากฏการณ์นี้ถูกบันทึกไว้ครั้งแรกโดยนักดาราศาสตร์ในช่วงราชวงศ์ฮั่นของจีนในปี ค.ศ. 36  - BBCไทย 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง