รีเซต

รู้จัก “Temple Isolation” ดูแลพระสงฆ์ติดโควิด แยกกักตัวในกุฏิ ช่วงโควิดระบาด

รู้จัก “Temple Isolation” ดูแลพระสงฆ์ติดโควิด แยกกักตัวในกุฏิ ช่วงโควิดระบาด
Ingonn
3 สิงหาคม 2564 ( 10:57 )
529

 

พระสงฆ์ถือเป็นอีกกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 และหากติดเชื้อโควิดแล้ว การดูแลรักษา และสถานที่รองรับผู้ป่วยโควิด ก็ไม่สามารถรักษารวมกับประชาชนทั่วไปได้ ทางกรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลสงฆ์ จึงได้ร่วมมือกับวัดสุทธิวราราม เขตสาทร กรุงเทพมหานคร สร้างสถานแยกกักตัวที่วัด (Temple Isolation)  ณ วัดสุทธิวราราม เพื่อรองรับพระสงฆ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 

 

 

พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคโควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้น วัดสุทธิวรารามจึงมีการสนับสนุนเป็นการสาธารณสงเคราะห์ ด้วยการจัดเตรียมสถานที่ เตรียมเตียงและอุปกรณ์ต่างๆ สนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค และค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 โดยมีนโยบายปรับเปลี่ยน ตึก 4 ชั้น เป็นศูนย์พักคอย เพื่อส่งต่อ เขตสาทร และสถานแยกกักตัวที่วัด (Temple Isolation) ของพระสงฆ์ที่อาพาธ เพื่อรองรับพระอาพาธที่ติดเชื้อโควิด 19  จากโรงพยาบาลสงฆ์

 

 

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้มีการปรับแผนการดูแลพระสงฆ์ในช่วงสถานการณ์โควิด เนื่องจาก พบพระสงฆ์อาพาธด้วยโรคโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ประกอบกับสถานพยาบาลที่มีพื้นที่จำกัดและพระสงฆ์มีความไม่เหมาะสมที่จะเดินทางไปรักษาตัวที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) เหมือนประชาชนโดยทั่วไป 

 

 

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสงฆ์ ร่วมกับวัดสุทธิวราราม จึงได้ดำเนินการสร้างสถานแยกกักตัวที่วัด (Temple Isolation) ณ วัดสุทธิวราราม เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยมีการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยเสมือนอยู่โรงพยาบาล ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข คือ การกักตัวในชุมชน (Community Isolation) โดยใช้วัดเป็นสถานที่สำหรับกักตัว ซึ่งมีช่องทางการสื่อสารผ่านทาง Telemedicine และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยทีมแพทย์ พยาบาล เพื่อป้องกันการติดเชื้อและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมถึงคนในชุมชนโดยรอบ

 

 

 

รู้จัก “Temple Isolation”


Temple Isolation คือ การแยกกักตัวที่วัด เป็นแนวทางสำหรับพระสงฆ์ที่ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และแพทย์พิจารณาว่ารักษาตัวที่วัดได้ หรือรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วัน แล้วจำหน่ายเพื่อแยกกักตัวที่วัดต่อไป

 

 

 

ผู้ที่เข้าเกณฑ์การแยกกักตัวที่วัด


1.เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สบายดีหรือไม่มีอาการ

 


2.มีอายุน้อยกว่า 60 ปี

 


3.มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคร่วมต่อไปนี้


- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)


- โรคไตเรื้อรัง


- โรคหัวใจและหลอดเลือด


- โรคหลอดเลือดสมอง


- เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้


- โรคอื่นๆตามดุลยพินิจของแพทย์

 


4.อยู่ในกุฏิรูปเดียว

 


5.ยินยอมให้แยกกักตัวในกุฏิของตัวเอง

 


6.ต้องไม่มีภาวะอ้วน 


ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก./ม.2 หรือน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กก.

 

 

 

ข้อปฏิบัติเมื่อกักตัวที่วัด Temple Isolation


1.ห้ามออกจากกุฏิและห้ามผู้ใดมาเยี่ยมที่วัด

 


2.ห้ามเข้าใกล้ทุกคน ต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

 


3.แยกกุฏิพัก แยกของใช้ส่วนตัว ควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท

 


4.ห้ามฉันภัตตาหารร่วมกัน

 


5.แยกขยะใส่ถุงให้มิดชิด

 


6.ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากออกนอกกุฏิ

 


7.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่สัมผัสกับของใช้ต่างๆ

 


8.แยกซักจีวร สบง อังสะ ผ้าเช็ดตัว และเครื่องนอนด้วยผงซักฟอก ตากแดดให้แห้ง

 


9.ควรใช้ห้องน้ำแยกจากพระรูปอื่น และทำความสะอาดก่อนและหลังใช้

 

 

 

กักตัวที่วัด Temple Isolation มีอะไรบ้าง


1.มีอุปกรณ์ประเมินอาการให้ คือ ปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด

 


2.การประเมินอาการผ่านระบบ Telemedicine โดยแพทย์และพยาบาลทุกวัน

 


3.ผู้ป่วยโควิด-19 หลังประเมินอาการในแต่ละวัน การให้ยาฉัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

 


4.ได้รับอาหาร 2 มื้อ คือเช้าและเพล ประเมินอาการและให้คำปรึกษา

 


5.หากมีอาการเปลี่ยนแปลงหรือแย่ลง ให้แจ้งทีมแพทย์ เพื่อนำส่งโรงพยาบาล

 

 

สิ่งสำคัญ คือ พระสงฆ์ที่ติดเชื้อโควิด ต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากอาการแย่ลง คือ มีไข้สูงลอย หอบ เหนื่อย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้ติดต่อโรงพยาบาลสงฆ์ หากใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางมาพบแพทย์ ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อระบายอากาศ

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง