คลัง ลดจีดีพี ปี64 เหลือ 1.3% ผลจากโควิด ต่างชาติแค่ 3 แสนคน หวังปีหน้าโต 4-5% ฟื้นต่างชาติเที่ยวไทย 12 ล้านคน
คลัง ลดจีดีพี ปี64 เหลือ 1.3% ผลจากโควิด ต่างชาติแค่ 3 แสนคน หวังปีหน้าโต 4-5% ฟื้นต่างชาติเที่ยวไทย 12 ล้านคน ส่งออกขยายตัวเพิ่ม จากเศรษฐกิจโลกฟื้น ยังไม่รื้อ ‘ช้อปดีมีคืน’-เพิ่มเงิน ‘คนละครึ่ง’ ชี้ควรออกมาช่วงโควิดคลาย
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ปี 2564 รอบใหม่ ซึ่งถือเป็นการปรับครั้งที่ 3 โดยคาดว่าจะขยายตัว 1.3 % โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.8-1.8% จากเดิมตั้งเป้าขยายตัวเศรษฐกิจไว้ที่ 4.5% โดยการปรับประมาณการครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2564 เหลือ 2.8 % และครั้งที่ 2 เมื่อเดือนเมษายน 2564 ปรับเหลือ 2.3% และครั้งนี้เหลือ 1.3% ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยลดน้อยลง เหลือเพียง 300,000 คนเท่านั้น
สำหรับปัจจัยที่คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวได้ 1.3% นั้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัว ทำให้การส่งออกสินค้าไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงที่ 14.5 %ต่อปี ส่งผลให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปี 2564 จะขยายตัว 16.6%
ทั้งนี้ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจโลกขยายตัว 5.7% อัตราแลกเปลี่ยน 31.48- 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ราคาน้ำมันดิบดูไบ 66.70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และรายจ่ายภาคสาธารณะ 4.06 ล้านล้านบาท อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.2% ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีพีดี) ซึ่งขาดดุลในภาคบริการเป็นสำคัญ ส่วนการบริโภคของภาครัฐและการลงทุนของรัฐจะขยายตัว 4.2% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.0 %
“การประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดการณ์ว่ากลางเดือนสิงหาคม จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงสุด หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อจะทยอยลดลงและคลี่คลายในที่สุด ขณะที่จำนวนการฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเทศไทย ก็ยังคงมีข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยว รวมถึงความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในตลาดโลก หากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงาน และความขัดแย้งในหลายประเทศ อีกทั้ง ทิศทางนโยบายการเงินโลกที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ” น.ส.กุลยา กล่าว
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4.0 -5.0% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงและมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จำนวน12 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี
น.ส.กุลยา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปโดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) นั้น คาดว่าสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยังสามารถบริหารจัดการได้ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนถ้าหากหนี้สาธารณะใกล้ถึง 60% ของจีดีพี หรือเกินกรอบนั้น ก็สามารถเสนอคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน เพื่อพิจารณากรอบเพดานหนี้สาธารณะให้เป็นตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งในกรอบนี้มีความสามารถที่จะปรับได้ให้สอดคล้องตามสถานการณ์เศรษฐกิจ
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐในช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-มิถุนายน 2564) จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้า 1.95 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ทำให้กระทรวงการคลัง ไม่สามารถจัดเก็บรายได้เป็นไปตามที่คาดไว้ โดยคาดว่าปีงบประมาณ 2564 การจัดเก็บรายได้จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างแน่นอน หรือจะขาดหายไปราว 2 แสนล้านบาท
จากกรณีที่หลายฝ่ายเสนอให้นำมาตรการช้อปดีมีคืน มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจนั้น สศค.มีความเห็นว่า ถ้าจะนำกลับมาใช้ ก็ควรจะนำมาใช้หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่่คลายแล้วราวไตรมาส 4 ของปีนี้ เพราะจะช่วยกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอย แต่สถานการณ์โควิดในขณะนี้ หลายฝ่ายมีความกังวล ว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ การออกมาตรการใดๆ ในช่วงนี้ อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ส่วนการเพิ่มเงินโครงการคนละครึ่ง ก็ยังไม่มีการหยิบยกประเด็นนี้มาหารือแต่อย่างใด
“มาตรการช้อปดีมีคืน ที่นำมาใช้เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เข้าร่วมมาตรการและขอคืนภาษีกับกรมสรรพากร 9 แสน – 1 ล้านรายเท่านั้น ซึ่งในครั้งนี้ ต้องรอดูสถานการณ์โควิด-19ก่อน เพราะยังเป็นช่วงล็อดาวน์ และประชาชนไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย เพราะกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรง” น.ส.กุลยา กล่าว