TNN Exclusive : อันตราย ! จริงไหม ? ขึ้น-ลงบันไดเลื่อน ห้ามเหยียบชานพักแผ่นที่ 2
นายธเนศ ยงรัตนมงคล อดีตนายกสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ tnnthailand ว่าประเด็นนี้ไม่เป็นความจริง เป็นข้อมูลที่ผิด เพราะแผ่น "ชานพัก" บันไดเลื่อนหรือทางเลื่อนนั้น ถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับน้ำหนักได้มากถึง 500 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือ เทียบเท่ากับ "คอนกรีต" ธรรมดา เวลาเดินสามารถเหยียบแผ่นชานพักได้ตามปกติ โอกาสที่จะกระโดดและทำให้แผ่นชานพักพังลงนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก ยกเว้นแต่จะมีการกระโดดทุกวันเป็นเวลานาน หรือใช้น้ำหนักที่เกินกว่าแผ่นชานพักจะรองรับไหวนานเกินไป
อดีตนายกสมาคมลิฟต์ฯ ยังได้อธิบายถึงรายละเอียดโครงสร้างแผ่นชานพักทั้ง 3 แผ่น เพิ่มเติม นอกจากจะมีโครงสร้างที่เเข็งแรงมากแล้ว ทั้ง 3 แผ่นจะต้องวางตัวเรียงเรียบเสมอกัน โดยชานพักแผ่นที่ 1 มีน้ำหนักและมีขนาดใหญ่ จะต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการถอดออกเท่านั้น เมื่อถอดแผ่นที่ 1 ออกแล้ว ถึงจะสามารถถอดแผ่นชานพักที่ 2 ออกได้ ซึ่งแผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 จะถอดออก เพื่อใช้ในการซ่อมบำรุง ส่วนแผ่นที่ 3 จะเป็นแผ่นที่ยึดติดกับโครงสร้างของบันไดเลื่อน ขณะที่บริเวณโดยรอบแผ่นชานพัก ไม่มีช่องว่างให้ถอดออกเองได้
อดีตนายกสมาคมลิฟต์ฯ ได้แนะนำสิ่งที่ควรระวังเวลาใช้บันไดเลื่อนเพิ่มเติม คือควรก้าวข้ามจุดหวีสีเหลือง , สีส้ม ซึ่งเป็นตัวระบุว่าผู้เดินกำลังจะถึงแผ่นชานพักของบันไดเลื่อนแล้ว และไม่ควรสวม "รองเท้ายาง" เนื่องจากมีโอกาสเกิดอันตรายสูง "รองเท้ายาง" อาจจะหลุดเข้าไปในช่องว่างและถูกรีดแบน ซึ่งช่องว่างดังกล่าว มีขนาดเล็กมาก เพียง 0.5 มิลลิเมตร นอกจากนี้ยังแนะนำให้ระวังเด็กเล็กที่ใส่รองเท้ายางด้วย เพราะที่ผ่านมาพบอุบัติเหตุบันไดเลื่อนกับเด็กบ่อยครั้ง และในบางประเทศได้มีออกประกาศห้ามใช้รองเท้ายางในการใช้บันไดเลื่อนและทางเลื่อน
เรียบเรียงโดย : ธัญญาพร สุวรรณรัตน์ ผู้สื่อข่าว TNN ช่อง 16
ที่มาภาพ : TNNonline