รีเซต

ผลวิจัยชี้ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 เสี่ยง "อวัยวะ" ถูกทำลาย 30-50%

ผลวิจัยชี้ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 เสี่ยง "อวัยวะ" ถูกทำลาย 30-50%
TNN ช่อง16
3 มิถุนายน 2564 ( 19:06 )
109

งานวิจัยพบว่าผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักส่วนใหญ่พบว่าจะเกิดอาการ “Long COVID”หรือ ผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ เนื่องจากร่างกายสร้างแอนติบอดีบางชนิดขึ้นมาและไปจับกับโปรตีนเซลล์อวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่น สมอง ปอด หรือ ทางเดินอาหาร ทำให้สร้างความเสียหายต่ออวัยวะเหล่านั้น ซึ่งแม้จะหายจากการติดเชื้อโควิดแล้ว ผู้ป่วยจะยังคงมีอาการข้างเคียงอยู่ โดยโอกาสที่จะเกิดอาการดังกล่าวนั้น มีถึงร้อยละ 30-50

ทั้งนี้ งานวิจัยที่มีการเผยแพร่ในวารสาร Nature วารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักถึงหนักมาก ส่วนใหญ่จะพบว่าร่างกายสร้าง “แอนติบอดี” บางชนิดขึ้นมา แต่แอนติบอดีเหล่านั้น ไม่ได้สร้างมาจัดการกับไวรัสเหมือนที่เราเข้าใจ และแอนติบอดีพวกนี้มีความอันตราย เพราะเป็นแอนติบอดีที่จับกับโปรตีนของผู้ป่วยเอง

เช่น โปรตีนที่พบบนเซลล์ในอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ปอด หลอดเลือด เกล็ดเลือด และ ทางเดินอาหาร โดยหากแอนติบอดีเหล่านี้มีจำนวนมากพอสมควร ไปจับกับโปรตีนเหล่านี้ ร่างกายจะไปทำร้ายตัวเอง ทำให้สร้างความเสียหายกับอวัยวะเหล่านั้น มากบ้างน้อยบ้าง คล้ายกับคนเป็นโรคภาวะภูมิต้านตนเอง เช่น โรคพุ่มพวง โรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งแอนติบอดีเหล่านี้ เชื่อว่าเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยอาการหนัก มักพบความเสียหายที่อวัยวะอื่น นอกจากปอดด้วย

แอนติบอดีต่อโปรตีนตัวเองเหล่านี้ สร้างขึ้นมาแล้วเอาออกจากร่างกายยากมาก ถึงแม้อาจจะรักษาอาการโควิดหายแล้ว ผู้ป่วยเหล่านั้น อาจจะมีผลข้างเคียงจาก แอนติบอดีเหล่านี้ ที่จะไปรบกวนการทำงานของร่างกาย เรียกว่าอาการ “Long COVID” หรือ ผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ โดยสามารถพบได้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนหลังจากติดเชื้อโควิด 

สำหรับอาการที่พบ เช่น หากแอนติบอดีไปจับกับโปรตีนบริเวณเซลล์สมองจะทำให้เกิดภาวะสมองล้า เพราะเซลล์สมองถูกทำลาย หรือ อาจเกิดอาการหายใจติดขัด หากปอดถูกทำลาย ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยอาการหนัก แต่ผู้ป่วยอาการไม่หนักก็เสี่ยงที่จะเกิดอาการเช่นกัน อาการภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังรวมถึงอาการอื่นๆ เช่น ปวดตามข้อ เจ็บหน้าอก ไอมาก เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ และนอนไม่หลับ หรือ เกิดอาการวิตกกังวล

ทั้งนี้ แอนติบอดีเหล่านี้พบได้แม้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ แต่ไม่พบในภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ซึ่ง ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ระบุว่า แล้วแต่กรณีศึกษา โดยวิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันการสร้างแอนติบอดีเหล่านี้ คือใช้ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนไปยับยั้งการติดเชื้อ และกลไกการสร้างแอนติบอดีดังกล่าว ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องเร่งฉีดวัคซีน

ด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการติดตามผู้ป่วยที่หายจากโควิดพบว่าบางรายมีอาการ “Long COVID” หรือมีผลข้างเคียงหลายราย โดยเฉพาะกรณีปอดอักเสบ พบว่าเมื่อหายแล้ว ปอดทำงานได้ไม่เหมือนเดิม ไม่สามารถหายใจได้เอง ต้องใช้เครื่องเครื่องช่วยหายใจตลอด

รวมทั้ง ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เช่น การขับรถ ขณะที่ แนวทางป้องกันอาการเหล่านี้คือต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด หรือ เมื่อติดโควิดแล้ว หลังหายป่วยต้องมารับวัคซีนเพิ่มอีก 1 เข็ม โดยให้แพทยืเป็นผู้พิจารณา

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง