รีเซต

จับชีพจร SMEs ไทย “รอด” หรือ “ร่วง” หลังปลดล็อค COVID-19

จับชีพจร SMEs ไทย “รอด” หรือ “ร่วง” หลังปลดล็อค COVID-19
TNN ช่อง16
6 สิงหาคม 2563 ( 10:02 )
388
จับชีพจร SMEs ไทย “รอด” หรือ “ร่วง” หลังปลดล็อค COVID-19

ก่อนอื่น ต้องพาไปดูโจทย์ทางเศรษฐกิจ ทั้งไทย และต่างประเทศ โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย จากเมื่อต้นปี ม.ค.63 หรือ 8 เดือนก่อนหน้านี้ หอการค้าไทย ประเมินเศรษฐกิจไทย โต 2.8% แต่ประมาณการล่าสุด ในเดือนสิงหาคมนี้ ปรับเป็นติดลบ 9.4% ใกล้เคียงกับหลายองคก์กรที่ประมาณการณ์เศรษฐกิจ  


สาเหตุสำคัญเป็นเพราะเศรษฐกิจโลก ติดลบมากขึ้น เป็น 5% และปริมาณการค้าโลกที่ติดลบ 9% มาจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งประเทศเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐฯ ก็เป็นอันดับ 1 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตมากที่สุด กลุ่ม TOP 10 ในวงการค้าการค้าโลก ก็อยู่อันดับ TOP 10 เช่นกัน ทั้งบราซิล อินเดีย และรัสเซีย 

ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมายังประเทศที่พึ่งพาต่างประเทศสูงอย่างไทย ไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 70% ของ GDP และปีนี้ คาดว่าการส่งออกไทยอาจต้องติดลบถึง 10.2% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเข้าไทย สูงถึง 39.7 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ปีนี้จะติดลบ 82.3% หรือ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 7 ล้านคน จาก 3 เดือนแรกของปี นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 6.7 ล้านคน เท่ากับ 9 เดือนหลัง ไทยมีหวังแค่ 3 แสนคน เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย เฉลี่ยรายละ 5 หมื่นบาท ก็สูญไป

แน่นอนเมื่อภาคเอกชน เห็นภาพแบบนี้ ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจทุกตัวอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ทุกรายชะลอการลงทุน การบริโภค เม็ดเงินในระบบหายเพิ่มขึ้นอีก  

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหายจากภาคการท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท และถ้ารวมภาคการผลิต และภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สูญไปแล้ว 2 ล้านล้านบาท และในช่วงที่เหลือของปี เม็ดเงินจะสูญอีก 1 ล้านล้านบาท รวมผลกระทบจากโควิด-19 เฉพาะปี 63 เม็ดเงินในระบบหายไป 3 ล้านล้านบาท แน่นอนนี่คือวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 


เมื่อจีดีพีเศรษฐกิจของประเทศหดตัวลงแรงเป็นประวัติการณ์ เราพาไปเจาะดูจีดีพีของภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบทั่วหน้า ทั้ง วิสาหกิจขนาดใหญ่ หรือ ธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย  พบว่าติดลบ 9.1% น้อยกว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยเล็กน้อย และหากไปดูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ติดลบ 11.4% ถ้าจะแบ่งออกเป็นธุรกิจขนาดกลาง ติดลบ 8.9% และขนาดเล็ก ติดลบมากที่สุด 12.3% 


ม.หอการค้าไทย จึงไปสอบถามธุรกิจ SMEs ว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แค่ไหน พบว่า มีเพียงแค่ 0.2% ไม่ได้รับผลกระทบ ที่เหลือ 99.8% ตอบว่าได้รับผลกระทบ ซึ่งกระทบมากที่สุด 20.9% กระทบมาก 40.8% ปานกลาง 26.9% และกระทบน้อย 11.2% 

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคบริการ กระทบ 71.1% หากแยกเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 70% ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สุขภาพ ความงาม อัญมณี และหัตกรรม

ดูต่อไป SMEs ไทยในปัจจุบัน มีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน ตัวแรกคือ ต้นทุน เพิ่มขึ้น 4.64% และที่สำคัญที่สุดคือ ยอดขายลดลง 38.92% จากการใช้ชีวิตวิถีใหม่ และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คนจึงกอดเงินสดแน่น ลดการใช้จ่าย แน่นอนทำให้หนี้สินของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้น 18.35% ความสามารถในการแข่งขันลดลง 29.42% จำนวนแรงงานก็ต้องลดลง 26.94% สอดคล้องกับยอดขาย แน่นอนรายได้ลด ก็ทำให้เงินทุนหมุนเวียนลดลง 40.76% และทรัพย์สินโดยรวมลดลง 30.13%  


ธุรกิจใหญ่เล็กก็มีการดิ้นหนีตาย เพื่อให้องค์กร หรือ บริษัทของตนเองอยู่รอดผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้ SMEs ก็เช่นกัน พามาดูวิธีการปรับตัวยอดฮิตของ SMEs ที่ผ่านมาได้ผลมากน้อยแค่ไหน

พบว่าการค้นหากลุ่มลูกค้าใหม่ หรือ ตลาดใหม่ ที่มีศักยภาพ แทนตลาดเดิม  มี SMEs ใช้วิธีนี้ 16.5% ได้ผล 77.8%  การลดต้นทุนการผลิตสินค้า/การให้บริการ และลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น ใช้ 16.5% เท่ากัน ได้ผล 78.6% ตามมาด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทั้งการลดราคาสินค้าและบริการ  SMEs ใช้ 15.5% ได้ผล 78.4%  การใช้ช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ 14.4% ได้ผล 70% พัฒนาคุณภาพสินค้า และบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิม 12.4% ได้ผล 82.9% 

การจัดหาเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง 11.6% ได้ผล 71.1% การพัฒนาสินค้าและบริการให้แตกต่างจากคู่แข่ง 11.4% ได้ผล 89.3% นับว่าเป็นแนวทางที่ได้รับผลสำเร็จสูงสุด และแนวทางสุดท้ายที่ผู้ประกอบการเลือกใช้น้อยที่สุดคือ การเลิกจ้าง และปลดคนงาน SMEs ใช้วิธีนี้แล้ว 1.6% ได้ผล 64% ซึ่งน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ 


และเมื่อให้ผู้ประกอบการตรวจสอบกันเอง เจาะลึกไปยังการปลดคนงาน ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อัตรามันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ SMEs 100% ตอบว่าชัดๆ ว่าไม่มีการปลดคนงาน 33.7%  และที่เหลือ ส่วนใหญ่ตอบว่า ไม่แน่ใจ 43.1% แสดงถึงความกังวลต่อเศรษฐกิจระยะข้างหน้า ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านความงาม ธุรกิจพลาสติกและยาง ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจร้านอาหาร/ภัตตาคาร และธุรกิจบริการด้านการศึกษา 

และตอบชัดๆ ว่ามีการปลดคนงาน 23.1% แน่นอนเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมาตั้งแต่ต้นๆ อย่าง ธุรกิจโรงแรม/เกสเฮาส์ ธุรกิจท่องเที่ยว/สันทนาการ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ  ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ ซึ่งเป็นกลุ่มฟุ่มเฟือย และตกแต่งบ้าน นับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกตัดก่อน เมื่อมีปัญหาทางการเงิน 


นี่เป็นแบบสำรวจที่ทำขึ้นในช่วงคลายล็อคดาวน์ ในประเทศเกือบ 100% แล้ว แต่ SMEs ยังดูอาการไม่ดี ยิ่งไปกว่านั้น ชีพจรของ SMEs ไทย ก็มีปัญหา จากประเด็นที่เรานำเสนอไปก่อนหน้านี้ ทำให้ค่าเฉลี่ยของ SMEs ไทย กรณีเลวร้ายที่สุด จากการประเมินของหอการค้าไทย ค่าเฉลี่ยอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน ขณะที่ถามเรื่องรายได้น้อยมากเหมือนกัน แต่สามารถเข้าถึงซอฟท์โลน SMEs จะอยู่ได้นานขึ้น เป็น 10 เดือน แต่เป็นเรื่องของอนาคต เพราะ ปัจจุบัน SMEs ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงซอฟท์โลน 

หากแยกดูรายธุรกิจแล้ว น่าตกใจที่ธุรกิจยานยนต์ของไทย ที่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ปัจจุบันธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ที่เป็นซัพพลายให้ธุรกิจยานยนต์ เหลือลมหายใจเพียงแค่ 3 เดือน หากยอดขายไม่ฟื้นกลับมาใกล้เคียงกับปกติ

และกลุ่มที่ยังมีสภาพคล่องตามค่าเฉลี่ยไม่เกิน 6 เดือน คือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจอัญมณี และเครื่องประดับ ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจท่องเที่ยวและสันทนาการ, ธุรกิจโรงแรมและเกสเฮาส์ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจก่อสร้างและพัฒนาอสังหาฯ 

ส่วนกลุ่มที่มีสภาพคล่องดำรงค์ธุรกิจอยู่ได้ไม่เกิน 9 เดือน ได้แก่ ธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่น ธุรกิจหัตถกรรม ธุรกิจพลาสติกและยาง ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร ธุรกิจบริการด้านความงาม 


ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ไทย มีบทบาททางเศรษฐกิจมากน้อยขนาดไหน ถ้านับรวมวิสาหกิจท้งหมดทั่วประเทศ มีกว่า 3 ล้านราย และ SMEs ไทยก็มีประมาณ 3.1 ล้านราย หรือ 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด มีบทบาทในการจ้างงานราว 70% ในที่นี้ สสว.ประเมินไว้เฉพาะการจ้างงานในระบบ 12.1 ล้านคน ไม่นับนอกระบบ เป็นที่มาของการประมาณการหอการค้าไทย ว่าในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ กลุ่ม SMEs ในระบบ จะมีการปลดคนงาน 1.93 ล้านคน 

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย ยอมรับว่า รัฐบาล และทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จะต้องเข้ามาหามาตรการเสริมทางเศรษฐกิจ เพิ่มเติม เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ หรือ ช้อปช่วยชาติ ดึงกำลังซื้อจากกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง-สูง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่า เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่าย เพราะมาตรการที่มีอยู่ไม่พอ หากไม่สามารถเปิดประเทศ และเปิดการท่องเที่ยวคู่ขนาน หรือ Travel Bubble ได้ ในปีนี้


สอดคล้องกับ ข้อเรียกร้อง ของ SMEs ไทย ที่มีต่อภาครัฐ หลักๆ มี 4 ประเด็นที่สำคัญ อันดับ 1 SMEs 97.7% ต้องการให้รัฐช่วยเพิ่มสภาพคล่อง โดยเฉพาะการเข้าถึงซอฟท์โลน เมื่อเพิ่มสภาพคล่องแล้ว ก็ต้องลดภาระหนี้ ตามมาติดๆ 91.5% ทั้งมาตรการพักชำระหนี้ที่จะหมดลงในช่วงเดือนตุลาคมนี้ และการลดอัตราดอกเบี้ย อันดับ 3 มาตรการทางภาษี น้ำหนักอยากให้เว้นภาษีไปเลย หากไม่ได้ ลดภาษีก็ยังดี และสุดท้าย 85.4% อยากขอเงินเยียวยา ในรูปแบบสิทธิในการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ย 

ความหวังอีกอย่างหนึ่งของ SMEs ตอนนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังไม่เป็นไปอย่างที่ประเมินไว้ เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ยอดขาย SMEs กลับมาฟื้นใกล้เคียงปกติที่สุด ทั้งหมดอาจต้องฝากความหวังให้กับทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ที่ปัจจุบันยังคงว่างเว้นอยู่หลายตำแหน่ง 


ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน จับชีพจร SMEs ไทย “รอด” หรือ “ร่วง” หลังปลดล็อค COVID-19

ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=COwvbfDV4GE


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง