รีเซต

"อุตรดิตถ์ติดยิ้ม" สานพลังเปลี่ยนทุกที่เป็น "แหล่งเรียนรู้" เด็ก-เยาวชน

"อุตรดิตถ์ติดยิ้ม" สานพลังเปลี่ยนทุกที่เป็น "แหล่งเรียนรู้" เด็ก-เยาวชน
TNN ช่อง16
18 เมษายน 2566 ( 15:52 )
99
"อุตรดิตถ์ติดยิ้ม" สานพลังเปลี่ยนทุกที่เป็น "แหล่งเรียนรู้" เด็ก-เยาวชน

“การเรียนรู้คือต้นทางที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในมิติอื่นๆ” เสียงสะท้อนของ “พิชาลล์ สร้อยสุวรรณ” เลขานุการเครือข่าย “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” ที่ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ในชื่อของ “กิ่งก้านใบ Learning Space” มานานกว่า 15 ปี  

โดยอุตรดิตถ์ติดยิ้มเกิดขึ้นจากรวมตัวกันของกลุ่มคนทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่จำนวน 13 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะทำงานในประเด็นที่แตกต่างกันออกไปผ่านกิจกรรมในพื้นที่หลากหลายรูปแบบ โดยเป็นหนึ่งใน “เครือข่ายพื้นที่ดีจัง” ที่ร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

พิชาลล์กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของเครือข่ายอุตรดิตถ์ติดยิ้มนั้นเกิดขึ้นการจัดเทศกาลที่มีชื่อว่ายกพวกดีกัน เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็กวัยรุ่นในปี 2545 ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายของคนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ แต่สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของการทำงานของเครือข่ายก็คือการจัดเทศกาลอุตรดิตถ์ติดยิ้มในปี 2560 เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐ”

โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ คนในจังหวัดเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับเด็ก เยาวชน และการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น เครือข่ายอุตรดิตถ์ยิ้มถูกเชิญให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของทางจังหวัดเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากการดำเนินงานต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่มักจะสอดแทรกเรื่องของการเรียนรู้เข้าไปด้วยเสมอ 

“เดี่ยว” วรวุฒิ เพ็งป่าแต้ว จาก “บ้านนอกสบายดี” หรือ “กลุ่ม ฅ. คนบ้านนอก” นับเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายอุตรดิตถ์ยิ้ม ที่นำเอาต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการทำเกษตรอินทรีย์ มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนาน โดยเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตรสำหรับคนทุกวัย โดยใช้เด็กและเยาวชนเป็นสะพานเชื่อมความรู้เข้าไปสู่ผู้ใหญ่และคนในชุมชน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

“แช็ค” สุกฤติ ปิ่นเพชร จาก “ธรรมมือสตูดิโอ” หนึ่งในเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้อุตรดิตถ์ติดยิ้ม ที่ใช้องค์ความรู้ด้านศิลปะบำบัดและธรรมชาติบำบัด มาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน โดยมุ่งเน้นเรื่องของอาหารที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน 

“ลุงรัง” รังสรรค์  โนนคำ เจ้าของ “ไร่ลุงรัง” ฟาร์มออร์แกนิค ร้านกาแฟ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อีกหนึ่งเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้ของอุตรดิตถ์ติดยิ้ม ที่เปลี่ยนให้ทุกพื้นที่ในฟาร์มให้กลายเป็นกิจกรรมเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สำหรับทุกครอบครัว ด้วยการประยุกต์เรื่องเกษตรกรรมนำมาใส่กระบวนการแล้วถ่ายทอดลงไปให้คนที่อยากเรียนรู้ได้เข้ามาสัมผัส 

ด้าน “ลาเต้” มรุเดช ไทยดิตษ์ จาก “กลุ่ม UTD” หรือ “อุตรดิตถ์ติดดาว” กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อสมัยใหม่ในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน  ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวในด้านต่างๆ ของจังหวัดทั้งแหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ข่าวสารบ้านเมือง และปัญหาต่างๆ ทางสังคม ผ่านการสร้างสรรค์สื่อออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2 แสนคน

ซึ่งเป้าหมายของการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” นั้น ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ การเปิดพื้นที่เรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน 

ทั้งนี้พิชาลล์ กิ่งก้านใบ กล่าวสรุปว่า “เป้าหมายที่เราวางไว้อันดับแรกก็คือการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่เราไม่ได้คาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลง แต่หวังผลที่จะเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน โดยมีความเชื่อมั่นว่ากระบวนการเรียนรู้ที่เขาได้รับจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นและเป็นผู้ขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมด้วยตัวของเขาเอง” 

วันนี้ “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” คือเครือข่ายของคนที่ทำงานเพื่อสังคมและขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมร้อยการทำงานของภาครัฐเข้ากับภาคประชาสังคมอย่างกลมกลืน บนความมือที่จะสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนของตนเองให้มีคุณภาพต่อไปในอนาคต



ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง