ผงะ! โควิดอินเดียโผล่จว.ปริมณฑล สธ.ยันพบแล้ว 2 ราย ย้ำไม่มีสายพันธุ์ไทย
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงกรณีข่าวที่ระบุว่าพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สายพันธุ์ C 36.3 ในประเทศไทย จึงมีการรายงานว่า Thailand ex Egypt แล้วมีการตีความว่าเป็นสายพันธุ์ไทย ว่า ข้อมูลที่มีการเผยแพร่อยู่ในขณะนี้ เข้าใจว่า เริ่มจากสื่อต่างประเทศแห่งหนึ่งในประเทศไทย และมีผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยมาพูดเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงคือ สิ่งที่เขาขยายถึงใน Public Health England หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องระบบสาธารณสุขภายในประเทศอังกฤษ ที่ได้มีการสรุปเอกสารเรื่องการกลายพันธุ์ เอกสารฉบับสุดท้ายออกเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 มีการเขียน Thailand ex Egypt ทำให้มีคนเอามาขยายความแบบคาดเคลื่อน
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือ ผู้ติดชื้อรายนี้ถูกตรวจพบในประเทศไทยจริง แต่เป็นชาวอียิปต์อายุ 33 ปี เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 และเข้าสู่ระบบกับตัวในสถานกักกันโรคของรัฐ (state quarantine)
“จากนั้น วันที่ 31 มกราคม เก็บสิ่งส่งตรวจส่งที่รพ.จุฬาลงกรณ์ เพื่อจะถอดรหัสสายพันธุ์ ขณะนั้นบันทึกเป็นเป็นสายพันธุ์ B 1.1.1 และรายงานเข้าระบบข้อมูลของโลก จากนั้นถูกจัดชั้น เป็น B.1.1.1.36 ปรับเป็น C.36 และล่าสุดเป็น C 36.3 อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายนี้รักษาหายแล้ว ตรวจไม่พบเชื้อก็เดินทางกลับประเทศอียิปต์ ดังนั้น นี่เป็นการตรวจพบในสถานที่กักตัว ไม่ใช่การตรวจเจอในชุมชน หรือในสังคมประเทศไทย และผู้ป่วยคนนี้ไม่ได้ออกมาจากสถานที่กักตัว เพื่อไปใช้ชีวิตในประเทศไทยแต่อย่างใด” นพ.ศุภกิจ กล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สายพันธุ์นี้ พบในหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นคงไม่ยุติธรรมหากจะระบุว่าเป็นสายพันธุ์ไทย
“คงไม่แฟร์ เพราะไทยก็ไม่ได้พบในชุมชน หรือจังหวัดไหนในประเทศไทย หากเทียบเคียงกับที่ประเทศญี่ปุ่น ที่ตรวจพบสายพันธุ์บราซิล ก็รายงานว่าเป็นสายพันธุ์บราซิล และเขียนเป็น Japan ex Brazil เพราะฉะนั้น ควรจะเรียกสายพันธุ์อียิปต์หรือไม่ เพราะสรุปไม่มี สายพันธุ์ C36.30 ในสังคมประเทศไทยแต่อย่างใด และไม่ควรจะเรียกว่าเป็นสายพันธุ์ไทยด้วยซ้ำไป คนที่หยิบเอกสารมาขยายผล ขอความกรุณา ท่านจะทำไปด้วยวัตถุประสงค์อะไร ผมไม่ทราบ แต่ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ยืนยันว่ากระบวนการถอดรหัสพันธุ์กรรมในประเทศไทยไม่เป็นรองใคร
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบสายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สายพันธุ์อินเดียนั้น ตามที่ตรวจพบและรายงานผลไปก่อนหน้านี้ จำนวน 62 ราย ในแคมป์คนงานย่านหลักสี่ และบางส่วนในพื้นที่ชุมชน ล่าสุด พบโผล่ที่จังหวัดหนึ่งใกล้กับกรุงเทพมหานคร โดยพบ 2 ราย แต่ขอยังไม่เปิดเผยชื่อ ขอเวลาตรวจสอบเพิ่มเติม ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้ อยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม เบื้องต้นเท่าเดิม และยังจำกัดอยู่ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
เมื่อถามถึงโอกาสกลายพันธุ์ในประเทศไทย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ธรรมชาติของไวรัสมีโอกาสกลายพันธุ์อยู่แล้ว ยิ่งมีวงรอบการติดเชื้อมากโอกาสกลายพันธุ์ก็มี และอยู่ที่ตำแหน่งของการกลายพันธุ์ว่าจะทำให้เชื้อแรงหรือไม่แรงขึ้นอย่างไร ถ้าไม่อยากให้กลายพันธุ์ ก็ต้องช่วยกันลดการระบาดให้มากที่สุด