รีเซต

Space Factory โรงงานผลิตยาบนอวกาศแห่งแรกในวงโคจรของโลก

Space Factory โรงงานผลิตยาบนอวกาศแห่งแรกในวงโคจรของโลก
TNN ช่อง16
15 มิถุนายน 2566 ( 13:47 )
92

วาร์ดา (Varda) บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีอวกาศในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการนำยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรเพื่อใช้สำหรับทดลองโรงงานผลิตยาบนอวกาศ รวมไปการทดสอบเดินทางด้วยความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก (Hypersonic) 25 มัค หรือ 30,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ร่วมกับกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ขณะเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศกลับโลก


การทดลองผลิตตัวยาบนอวกาศมีข้อดีแตกต่างจากการทดลองบนโลกเนื่องจากในสภาวะแรงโน้มถ่วงเป็นศูนย์ตัวแปรทางกายภาพต่าง ๆ มีความแตกต่างจากห้องปฏิบัติการบนพื้นโลก เช่น กระบวนการนำพากระแสความร้อนแตกต่างจากบนโลก อนุภาคของเหลวที่ไม่จับตัวกันไม่ลอยเหนือผิวน้ำหรือไม่จมลงสู่ก้นของหลอดทดลองบนโลก


คุณสมบัติของตัวแปรที่แตกต่างจากการทดลองบนโลกทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถปรับแต่งการดูดซึมทางชีวภาพ การเพิ่มอายุการเก็บรักษาองค์กรประกอบต่าง ๆ ของการทดลองให้ยาวนานมากขึ้นนำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ ไม่เหมือนกับการทดลองบนโลก ก่อนหน้านี้เทคนิควิธีการพัฒนาตัวยาบนอวกาศได้รับการทดสอบมาแล้วโดยองค์การนาซาที่ทำการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS จนสามารถพัฒนาตัวยาที่เพื่อใช้จับกับโปรตีนได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาถูกใช้พัฒนาตัวยาใหม่ ๆ บนโลก 


ปัจจุบันการผลิตยารักษาโรคหรือวัคซีนยังคงมีต้นทุนสูงทำให้ตัวยามีราคาแพง ตัวอย่างเช่น ยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวบลินซิโต (Blincyto) ที่ราคา 114.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.9 ล้านล้านต่อกิโลกรัม หรือ mRNA ซึ่งเป็นวัคซีนสำคัญของโควิด-19 ซึ่งมีราคาแพงและสร้างรายได้ให้กับบริษัท ไฟเซอร์ (Pfizer) มากกว่า 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,600,346 ล้านล้านบาท การแสวงหาหนทางใหม่ ๆ ในการรักษาโรคที่มีราคาถูกลงจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ


กระบวนการพัฒนายาบนอวกาศยังคงเป็นตัวเลือกการพัฒนาตัวยาและวัคซีนที่มีราคาแพงทั้งในด้านการขนส่งและการบวนการทดลองบนอวกาศ อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยีการขนส่งจรวดฟอลคอล 9 (Falcon 9) ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) จรวดถูกออกแบบให้สามารถบินขึ้นและกลับมาลงจอดบนโลกเพื่อใช้งานใหม่ ทำให้ต้นทุนในการขนส่งอวกาศมีราคาถูกลง นอกจากนี้เทคโนโลยีของจรวดซูเปอร์เฮฟวี (Super Heavy) และยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อใช้งานในอีก 1-2 ปีข้างหน้า อาจทำให้ต้นทุนการขนส่งอวกาศมีราคาถูกลงไปอีกหลายเท่าตัว 


สำหรับยานอวกาศของบริษัท วาร์ดา (Varda) ที่มีขนาดประมาณลูกบอลที่ใช้ฝึกโยคะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเรียบร้อยแล้วโดยใช้จรวดฟอลคอล 9 (Falcon 9) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมาและกำลังโคจรอยู่บนอวกาศที่ระดับความสูงประมาณ 1,000 กิโลเมตร โดยระบบการทดสอบผลิตตัวยารักษาโรคเอดส์ (HIV/AIDS) หรือตัวยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) จะเริ่มทำงานโดยอัตโนมัติในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า โดยมันจะทำให้เกิดอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นและทำให้เย็นตัวลงอย่างรวดเร็วเพื่อศึกษาการเติบโตของผลึกบนอวกาศ


นอกจากการทดลองตัวยารักษาโรคเอดส์ ก่อนหน้านี้บริษัทได้รับสัญญาโครงการทดลองทางวิทยาศาสตร์จากกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาขณะยานเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก (Hypersonic) โดยโครงการทดลองดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทไม่เปิดเผยรายละเอียดของการทดลองดังกล่าว


ตามแผนการที่วางเอาไว้ในระหว่างที่ยานอวกาศเดินทางกลับโลกผ่านชั้นบรรยากาศ (Re-entry) มันจะเดินทางด้วยความเร็ว 25 มัค หรือประมาณ 30,600 กิโลเมตร ก่อนชะลอความเร็วเข้าสู่ระดับไฮเปอร์โซนิก (Hypersonic) มากกว่า 5 มัค หรือประมาณ 6,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะอยู่เหนือระดับความสูง 40 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก และเมื่อระดับความสูงเหลือประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงใกล้เคียงกับเครื่องบินขนส่งเชิงพาณิชย์ยานอวกาศจะกางร่มชูชีพเพื่อลดความเร็วลงเหลือ 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และลงจอดบนพื้นโลก


ที่มาของข้อมูล NewatlasNotboring  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง