ระวัง! โจรใช้ช่องทาง ปลอมไลน์หน่วยงานรัฐ สภาผู้บริโภค
ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และมีการเปลี่ยนรูปแบบอยู่ตลอดเวลา จากการอ้างชื่อตำรวจ กรมที่ดิน กรมสรรพากร ประกันสังคม ล่าสุดมีมิจฉาชีพสร้างบัญชีไลน์แอบอ้างไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official Account) ของสภาผู้บริโภคเพื่อหลอกขโมยข้อมูลและเรียกเก็บเงินผู้เสียหายที่มาร้องเรียน จนมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
รายการเราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร ตอนล่าสุด “ล้อมกรอบ ป้องกัน โจรออนไลน์” ซึ่งเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” และยูทูบ tccthailand เปิดข้อมูลล่าสุดพร้อมกับเชิญผู้เสียหายจากเหตุโจรกรรมออนไลน์ และรองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เตือนภัย แนะวิธีป้องกัน และเร่งตามตัวมิจฉาชีพมาลงโทษ
หนึ่งในผู้เสียหาย ลัดดา เขียวชะอุ่ม ที่ถูกโจรออนไลน์หลอกดูดเงิน สูญเงินไปกว่า 2 แสนบาท ย้อนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้รับเอสเอ็มเอส (SMS) ที่อ้างชื่อสำนักงานประกันสังคมให้คลิกลิงก์เพื่ออัปเดตข้อมูลส่วนตัวทั่วไป ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ แต่ไม่ได้สนใจเพราะเกรงว่าจะเป็นข้อความที่ถูกส่งมาจากมิจฉาชีพ จนกระทั่งวันถัดมาได้รับจดหมายจากสำนักงานประกันสังคมให้ไปรับเบี้ยชราภาพเพราะตัวเองอายุเกิน 55 ปีแล้ว จึงเข้าใจไปว่าเอสเอ็มเอสที่ได้รับก่อนหน้าถูกส่งมาจากประกันสังคมจริง จึงตัดสินใจกดลิงก์เพื่ออัปเดตข้อมูล
หลังกดลิงก์และกดเพิ่มเพื่อนไลน์ประกันสังคมปลอม จากนั้นมีผู้ที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่โทรหาและแนะนำให้กรอกเอกสาร เลขที่บัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์ผ่านแชทไลน์ และขอรหัสโอทีพี (OTP) ซึ่งเป็นรหัสลับใช้ครั้งเดียว ซึ่งเหยื่อเห็นว่ามีการใชัรหัสดังกล่าวในการลงทะเบียนเป๋าตังจึงไม่เฉลียวใจ
ระหว่างที่คุยโทรศัพท์ปลายสายแจ้งว่าห้ามปิดโทรศัพท์ และอย่าปล่อยให้โทรศัพท์ดับระหว่างที่คุยโทรศัพท์ จากนั้นโทรศัพท์ของเธอก็เกิดอาการหน้าจอค้าง นอกจากนี้มิจฉาชีพที่อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ยังพยายามโน้มน้าวให้ออกจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เพื่อไปสมัครมาตรา 39 หรือ มาตรา 40 เพราะสิทธิประโยชน์มากกว่า จึงเริ่มเอะใจและตัดสินใจรุกถามปลายทางว่า “ใช่โจรออนไลน์หรือไม่” หลังจากนั้นเธอถูกตัดสาย และเมื่อเข้าไปตรวจสอบเงินในบัญชีธนาคารของตัวเอง 4 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย พบว่าถูกดูดเงินออกไปทั้งหมด ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที สูญเงินทั้งสิ้น 232,024 บาท
ลัดดา กล่าวต่ออีกว่า หลังจากรู้ว่าถูกหลอก ได้ติดต่อไปที่ 4 ธนาคาร แต่ขั้นตอนการติดต่อยากและใช้เวลา เนื่องจากทุกธนาคารใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ และกว่าจะติดต่อครบ 4 ธนาคารเพื่อรวบรวมหลักฐานแจ้งความใช้เวลานาน และเมื่อโทรศัพท์ไปแจ้งความออนไลน์ตำรวจไซเบอร์ที่เบอร์ 1441 กลับไม่สามารถติดต่อได้ จึงต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ซึ่งก็ใช้เวลานานมากเช่นกัน
“ปัจจุบันคดีไม่มีความคืบหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ขณะที่ธนาคารเองไม่รับผิดชอบอะไรเลย ทราบข้อมูลเพียงว่า บัญชีธนาคารของมิจฉาชีพคือ ธนาคาร ยูโอบี เจ้าของบัญชี ชื่อ นายพันทัศน์ ศรีธนาธิป แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินคดีได้” ลัดดากล่าวและย้ำว่าอยากเรียกร้องให้ ธนาคารมีมาตรการระงับธุรกรรมทางการเงินที่น่าสงสัยโดยเร็วและควรมีมาตรการรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว และคาดหวังให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินคดี ขณะเดียวกันอยากให้สภาผู้บริโภคจัดรวมตัวผู้บริโภคที่ถูกดูดเงินเป็นพลังภาคประชาชนเพื่อทวงมาตรการในการดูแลเรื่องนี้จากภาครัฐและธนาคาร
ผู้ที่มีประสบการณ์โดนหลอกลวงคนที่สอง อิสิริยาพรรณ แสนเพชร ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่แจ้งเบาะแสกรณีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นไลน์ออฟฟิเชียลของสภาผู้บริโภค เล่าว่า ตนเองมีความเดือดร้อนทางคดี ต้องการหาทนายความ จึงค้นในเว็บไซต์กูเกิลและพบไลน์ปลอมของสภาผู้บริโภคซึ่งเป็นลิงก์ที่ซื้อโฆษณาบนกูเกิล หลังจากเพิ่มเพื่อนจึงมีการติดต่อมิจฉาชีพที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคและมีการพูดคุยกัน ทำให้ทราบว่าหากตนเองต้องการความช่วยเหลือเรื่องคดีความ จะมีค่าใช้จ่าย 10,000 บาท พร้อมคำสัญญาว่าจะสามารถไกล่เกลี่ยจนจบคดี โดยมิจฉาชีพได้ส่งรูปใบรับรองทนายมาให้ดูเป็นหลักฐาน
อย่างไรก็ตาม อิสิริยาพรรณ ไม่ได้โอนเงินให้กับมิจฉาชีพเนื่องจากสังเกตเห็นความผิดปกติ เพราะน้ำเสียงที่โทรศัพท์เป็นผู้สูงอายุแต่ในหลักฐานใบรับรองทนายคาดว่าอายุประมาณ 40 ปี นอกจากนี้ชื่อบัญชีธนาคารที่ให้โอนเงิน ไม่ตรงกับชื่อในใบรับรองทนายความที่ส่งให้ดู จึงตรวจสอบและหาข้อมูลจนทราบว่าเป็นไลน์ปลอม จากนั้นจึงได้ติดต่อสภาผู้บริโภคเพื่อร้องเรียนและแจ้งเตือนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีโจรออนไลน์จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มักใช้หลักการจิตวิทยา ความรัก ความโลภ และ ความเชื่อใจ รวมถึงได้มีการพัฒนาวิธีการตลอดเวลา และยังพบว่ามีการปลอมแปลงไลน์หน่วยงานราชการจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอีเอส (MDES) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อควบคุมบัญชีม้า หลอกลวงออนไลน์ โดยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ปอท. จะเปิดศูนย์บูรณาการปราบอาชญากรรมออนไลน์แบบ One-Stop Service ร่วมกับกระทรวงดีอีเอส เพื่อดำเนินการเพียงแห่งเดียวได้ทั้งระบบ ทั้งนี้ สำหรับกรณีไลน์สภาผู้บริโภคถูกปลอม และคดีของผู้เสียหายทั้ง 2 ราย จะเร่งรัดตรวจสอบและติดตามให้เร็วขึ้น
ส่วน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) กล่าวว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีถูกหลอกลวงออนไลน์จำนวนหนึ่ง แต่หากอ้างอิงจากข้อมูลของ สตช. พบว่าปัญหาเรื่องภัยทุจริตทางการเงินธนาคาร ในปี 2565 มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 70,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้นำข้อมูลเสนอต่อ ธปท. เพื่อควบคุมและจำกัดการโอนเงินไปธนาคารต่างประเทศไม่เกินครั้งละ 5 หมื่นบาท อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่าวิธีการอายัดเงินในธนาคารยังยุ่งยากควรจะง่ายและรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่
สำหรับกรณีของลัดดา ผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเอสเอ็มเอสดูดเงินนั้น สภาผู้บริโภคกำลังพิจารณาว่าจะฟ้องเอาผิดกับค่ายมือถือที่ส่งเอสเอ็มเอสของมิจฉาชีพ เป็นคดีตัวอย่างเพื่อเรียกเงิน 2 แสนบาทคืนให้กับผู้บริโภค ส่วนกรณีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นไลน์ออฟฟิเชียลสภาผู้บริโภคเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคนั้น ยืนยันว่าจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเพื่อเอาผิดกับกลุ่มคนดังกล่าว และบริษัทไลน์ต้องร่วมรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน พร้อมย้ำเตือนว่าสภาผู้บริโภค ไม่มีนโยบายเรียกเก็บเงินค่าทนายความหรือค่าดำเนินการใด ๆ จากผู้บริโภค หากมีการเรียกเก็บเงินให้มั่นใจได้ว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน
“ขอยืนยันว่าหน่วยงานของรัฐเรียกเก็บเงินไม่ได้ ถ้าเรียกเก็บเงินแสดงว่าของปลอม เพราะถือเป็นหลักการพื้นฐานของสภาผู้บริโภค เราให้คำแนะนำและช่วยผู้บริโภคฟรี เพราะฉะนั้นสภาผู้บริโภคจะเดินหน้าจัดการกับเพจหลอกลวงเอาผิดให้ถึงต้นตอและจัดการให้ถึงที่สุดเพราะเอาชื่อเสียงของสภาผู้บริโภคไปหลอกลวงผู้บริโภคที่เดือดร้อน” สารีกล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้แจ้งความดำเนินคดีกรณีที่มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นไลน์ออฟฟิเชียลของสภาผู้บริโภคเป็นที่เรียบร้อย และได้เชิญทนายที่ถูกแอบอ้างชื่อมาร่วมดำเนินคดีด้วยเช่นกัน โดยจะดำเนินคดีในเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด
สำหรับข้อสังเกต ไลน์ออฟฟิเชียลสภาผู้บริโภคที่ถูกต้องจะใช้ชื่อว่า "สภาองค์กรผู้บริโภค” หรือพิมพ์ค้นหาโดยใช้คำว่า @tccthailand ต้องมี @ ด้านหน้า และไลน์สภาองค์กรผู้บริโภคของจริงมีวิธีสังเกต ดังนี้ 1. โล่สีน้ำเงิน คือบัญชีที่ผ่านการรับรอง (Verified Account) 2. มีจำนวนเพื่อนมากกว่า 10,000 คน ส่วนไลน์ปลอมจะเป็น โล่สีเทา คือ บัญชีทั่วไป (Standard Account) และมีจำนวนเพื่อน 100 คน