ข่าวปลอมล่าสุด! เปิด 10 ข่าวยอดฮิตที่ประชาชนสนใจ เช็กเลยที่นี่

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 11 – 17 กรกฎาคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 887,665 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 671 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 627 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 36 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 8 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 214 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 89 เรื่อง
โดยในจำนวนนี้เป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อ ครัวเรือนละ 200,000 บาท ผ่อนนาน 60 เดือน
อันดับที่ 2 : เรื่อง เพจ ออมสินพลัส โดย ธ.ออมสิน เปิดขายหวยออนไลน์ถูกกฎหมาย
อันดับที่ 3 : เรื่อง OR เปิดเสนอขายหุ้นสามัญ IPO ให้ประชาชนทั่วไป เริ่มต้น 5,000 บาท ปันผลวันละ 1,480 บาท
อันดับที่ 4 : เรื่อง กระทรวงยุติธรรม เปิดเพจเฟซบุ๊กให้ผู้ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ ลงทะเบียนรับเงินคืน
อันดับที่ 5 : เรื่อง โอ้กะจู๋ จับมือ OR เปิดขายหุ้น เริ่มต้น 1,000 บาท รับปันผล 390 บาทต่อวัน พร้อมผู้เชี่ยวชาญจาก ก.ล.ต. ให้คำแนะนำ
อันดับที่ 6 : เรื่อง PTT ส่ง SMS ให้คลิกลิงก์ใช้คะแนนสะสมก่อนหมดอายุ
อันดับที่ 7 : เรื่อง เจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง ติดต่อแจ้งวิธีผูกบัญชีเพื่อขอรับเงิน ช.ค.บ.
อันดับที่ 8 : เรื่อง ลงทุนหุ้น OR เพื่อร่วมเป็นเจ้าของร้านกาแฟ เริ่มต้น 5,000.- รับปันผล 1,480.- /วัน
อันดับที่ 9 : เรื่อง ติดต่อรับเงินคืนจากการถูกฉ้อโกงออนไลน์ ผ่านเพจ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
อันดับที่ 10 : เรื่อง PTT ส่ง SMS แจ้งผู้ใช้บริการ ให้แลกคะแนนสะสมผ่านลิงก์
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวการชักชวนให้ลงทุนโดยอ้างชื่อหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ข่าวการให้บริการสินเชื่อของธนาคารรัฐ และข่าวการให้บริการของหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งตัวบุคคลที่เชื่อและแชร์ข้อมูลส่งต่อกันไปเป็นวงกว้าง ทำให้ประชาชนอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้” นายเวทางค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
