รีเซต

‘ตลาดหลักทรัพย์ฯ’ ชี้หุ้นไทยปี 65 ผันผวนสูงตามแรงปรับดอกเบี้ย รุกปั้นตัวเชื่อมตลาดทุน-คริปโทฯ

‘ตลาดหลักทรัพย์ฯ’ ชี้หุ้นไทยปี 65 ผันผวนสูงตามแรงปรับดอกเบี้ย รุกปั้นตัวเชื่อมตลาดทุน-คริปโทฯ
มติชน
3 ธันวาคม 2564 ( 18:15 )
54
‘ตลาดหลักทรัพย์ฯ’ ชี้หุ้นไทยปี 65 ผันผวนสูงตามแรงปรับดอกเบี้ย รุกปั้นตัวเชื่อมตลาดทุน-คริปโทฯ

3 ธันวาคม นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นปี 2565 คาดการณ์ทิศทางว่าจะมีความผันผวนสูงอย่างแน่นอน เนื่องจากเราอยู่ในสถานการณ์จุดเปลี่ยนของช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำ เข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มในหลายประเทศที่จะมีการปรับดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ เพราะเริ่มเห็นเงินเฟ้อ การบริโภค และเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วขึ้น ทำให้มีความต้องการ (ดีมานด์) ในการใช้เงินมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องที่ลดลง และการลงทุน ทำให้จะมีการปรับนโยบายการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกค่อนข้างมาก รวมถึงการเคลื่อนไหวของเงินจะมีมากขึ้นด้วย ทำให้สินทรัพย์ต่างๆ จะมีการปรับราคาค่อนข้างมาก บวกกับเศรษฐกิจในปี 2565 จะเห็นการฟื้นตัวได้มากขึ้น ทพให้มีเซกเตอร์ที่ยังไม่สามทรถฟื้นตัวได้ ทยอยฟื้นตัวกลับมาได้มากขึ้น อาทิ ท่องเที่ยว พลังงาน การเงินต่างๆ จากเดิมที่มีบางเซกเตอร์ฟื้นตัวนำไปแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องระวัง เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิสรัปชั่น และโลกของนิวนอร์มอล ซึ่งอาจทำให้บางธุรกิจที่เคยดีและควรจะดีต่อไป อาจไม่กลับมาดีเหมือนเดิม แต่บางธุรกิจที่ไม่คิดว่าจะสำคัญ ก็อาจเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ทำให้ปี 2565 จะเป็นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น

 

นายภากร กล่าวว่า สถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ได้เป็นแบบเท่าเทียมกัน เพราะเห็นบางเซกเตอร์เริ่มฟื้นตัวได้แล้ว อาทิ การส่งออก อาหาร แต่บางเซกเตอร์ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ อาทิ การท่องเที่ยว พลังงาน ธนาคาร ที่นักลงทุนต้องดูสัญญาณและข้อมูล ที่แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวเริ่มมีหรือยัง ซึ่งเซกเตอร์ที่ยังไม่ฟื้นตัวหรือฟื้นตัวช้าอยู่ จะสามารถฟื้นตัวต่อได้อีกในระยะถัดไป รวมถึงผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะการพบสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน ที่มองว่าเราต้องอยู่กับปัจจัยความไม่แน่นอนเหล่านี้ต่อไป ซึ่งอยากให้พิจารณาผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาว ที่ผลกระทบจะมีมากหรือน้อยกว่าเดิม อย่างไร เนื่องจากการเกิดโอเวอร์รีแอคชั่นในตลาดหุ้นไทย สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งถือเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสในการกลับเข้ามาลงทุนได้ หากข้อมูลที่มีอยู่บ่งบอกว่า สถานการณ์จะไม่แย่ลงมากกว่าเดิม รวมถึงข้อมูลใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะสถานการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงและพลิกผันได้ตลอดเวลา ทำให้ข่าวสารต่างๆ ในช่วงนี้ทั้งข่าวดีและข่าวไม่ดี ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ในการลงทุนทั้งหมด แม้แต่ตลาดที่มีสภาพคล่องสูงอย่างสหรัฐ ก็เห็นการผันผวนของดัชนีขึ้นลงไม่แตกต่างจากไทย

 

นายภากร กล่าวว่า สำหรับแผนการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2565 เดิมอดีตตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำเกี่ยวกับการนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียน การซื้อขายหุ้น และเป็นผู้เก็บรักษาสินทรัพย์ หรือรับฝากต่างๆ แต่การเปลี่ยนแปลงของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงที่ผ่านมา เห็นการเป็นระบบซื้อขายกองทุนแบบบัญชีเดียว (ฟันด์ คอนเน็ก) ผ่านออนไลน์บนแอพพลิเคชั่น การโอนเงินในกลุ่มนักวิเคราะห์ (โบรกเกอร์) การขอใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล การทำธุรกรรมซื้อและชำระค่าอากรแสตมป์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเราได้ทำการรองรับการเปลี่ยนแปลงในตลาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เพิ่งทำ โดยทยอยเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายกว้างขึ้น ทำตัวเป็นแพลตฟอร์มมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีอีกหลายเรื่องที่ต้องอัพเดตเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

 

นายภากร กล่าวว่า จากกรณีที่เห็นบริษัทเอกชนหลายราย เริ่มยอมรับในการใช้สกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) เป็นตัวกลางในการซื้อขายและเปลี่ยนมากขึ้น มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความสนใจในส่วนนี้ด้วยนั้น มองว่าคริปโทเคอร์เรนซี เป็นส่วนทั้ง 2 อย่าง ระหว่างในรูปแบบของเงิน และสินทรัพย์ ซึ่งสิ่งที่เราเห็นคือ การผสมกันเป็นคริปโท นักลงทุนก็ลงทุนเพื่อเก็งกำไรได้ ขณะเดียวกันก็สามารถใช้คริปโทเป็นตัวกลางในการจ่ายเงินได้ แต่โจทย์ที่ต้องพิจารณาคือ การใช้คริปโทมาเป็นตัวกลางในการจ่ายเงิน จะมีประสิทธิภาพมากน้อยเท่าใด และการลงทุนคริปโทในฐานะที่เป็นสินทรัพย์นั้น จะเป็นสินทรัพย์ประเภทอะไรได้บ้าง จึงอยากให้นักลงทุนและผู้ที่จะใช้คริปโทเป็นตัวกลางต้องพิจารณาตรงนี้ให้ดี ซึ่งในมุมมองของตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่า สิ่งที่ กำลังจะทำคือ การทำให้คนที่มีสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ คริปโท กระจายความเสี่ยงของสินทรัพย์ สามารถเปลี่ยนจากคริปโท มาเป็นสกุลเงินต่างๆ และนำเงินมาซื้อหรือลงทุนในตลาดทุน อาทิ ตลาดหุ้นไทยหรือตลาดอื่นๆ ได้สะดวกขึ้น มองว่าตรงนี้มากกว่าที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อในการให้บริการของตลาดหลักทรัพย์ฯ กับตลาดคริปโตเคอร์เรนซี

 

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเข้าไปเป็น 1 ในผู้เล่นของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ อันนี้ยังไม่มีนโยบายและกลยุทธ์ที่จะเข้าไปในการเป็นส่วนซื้อขายคริปโท แต่เรามองเรื่องการเชื่อมต่อในการลงทุน ว่า ผู้ที่มีคริปโทต้องการขายและนำเงินมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดทุนไทย ตรงนี้มากกว่าที่ต้องการทำให้เกิดขึ้นและสะดวกขึ้น” นายภากร กล่าว

 

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,568.69 จุด ลดลง 3.4% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า เมื่อพิจารณาช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น 8.2% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 92,275 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 11 เดือนแรกปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 95,344 ล้านบาท ซึ่งพบว่า นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิเป็นเดือนแรกหลังจากเป็นผู้ซื้อสุทธิมา 3 เดือนต่อเนื่อง โดยเดือนพฤศจิกายน ต่างชาติขายสุทธิ 10,182 ล้านบาท ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 73,581 ล้านบาท แตกต่างจากนักลงทุนในประเทศ ที่มีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ 128,844 ล้านบาท โดยนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดมาอย่างต่อเนื่อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง