รีเซต

รัฐประหารมาลี 2020 ทหารรับปากจัดเลือกตั้งใหม่ ลั่นไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ

รัฐประหารมาลี 2020 ทหารรับปากจัดเลือกตั้งใหม่ ลั่นไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ
ข่าวสด
19 สิงหาคม 2563 ( 19:15 )
397
รัฐประหารมาลี 2020 ทหารรับปากจัดเลือกตั้งใหม่ ลั่นไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ

 

รัฐประหารมาลี 2020 - วันที่ 19 ส.ค. บีบีซี รายงานความคืบหน้ารัฐประหารที่มาลี ชาติทางตะวันตกในแอฟริกา เมื่อค่ำ 18 ส.ค. ว่า คณะทหารที่ยึดอำนาจประธานาธิบดี อิบราฮิม โบบาการ์ ไคตา ประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่านพลเรือน และจัดการเลือกตั้งใหม่ หลังจากที่ประธานาธิบดีไคตาประกาศลาออก เนื่องจากไม่ต้องการหลั่งเลือดเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง

 

https://www.youtube.com/watch?v=3ci0_RfTNBg

 

คณะทหารที่เรียกตัวเองเป็น คณะกรรมการเพื่อความอยู่รอดของประชาชนแห่งชาติ (National Committee for the Salvation of the People) แถลงทางโทรทัศน์ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ แต่ทำรัฐประหาร เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเข้าสู่ความวุ่นวาย

 

พันเอกอิสมาเอ วากี โฆษกคณะรัฐประหาร กล่าวว่า เราต้องการความมั่นคงประเทศเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อให้มาลีจัดตั้งสถาบันการเมืองเข้มแข็งภายในเวลากำหนดเหมาะสม พร้อมปิดพรมแดน-น่านฟ้า และเคอร์ฟิวตั้งแต่ 09.00-17.00 น. อย่างไม่มีกำหนด

 

BBC

 

"ประชาสังคมและขบวนการสังคมการเมืองได้รับเชิญเข้าร่วมกำหนดเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงการเมืองด้วยการเลือกตั้งทั่วไปอย่างโปร่งใสต่อการใช้ระบอบประชาธิปไตยด้วยแผนงาน (Roadmap) ที่จะวางรากฐานใหม่แก่มาลี" พันเอกวากี รองเสนาธิการทหารอากาศ กล่าวและว่า

"ประเทศเรากำลังจมอยู่ในความวุ่นวาย ความโกลาหล และความไม่มั่นคง จากความผิดพลาดของผู้รับผิดชอบชะตากรรมของตัวเอง"

 

REUTERS

 

สหภาพแอฟริกาและสหประชาชาติต่างประณามการทำรัฐประหารและจี้ให้คณะรัฐประหารปล่อยผู้ถูกทหารจับกุมทั้งหมด ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติประชุมหารือสถานการณ์ที่มาลี ส่วนฝรั่งเศสโดยกระทรวงต่างประเทศ อดีตชาติอาณานิคม จี้ให้ทหารกลับค่าย

ส่วนกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก หรืออีโควาส (Ecowas) ออกแถลงการณ์ประณาม จะใช้มาตรการลงโทษเริ่มจากการปิดน่านฟ้าและพรมแดนทั้งหมดต่อประเทศมาลี และคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศ และระงับสถานะสมาชิกของมาลี

 

REUTERS

 

การทำรัฐประหารเกิดขึ้นหลังเผชิญสถานการณ์โกลาหล ทั้งการประท้วงและจลาจลด้วยความไม่พอใจต่อภาวะเศรษฐกิจชะงักงันหลายเดือน ข้อครหาคอร์รัปชั่นของรัฐบาล การโจมตีของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่อเนื่อง และการระบาดของโควิด-19

แม้ว่าประธานาธิบดีไคตาเสนอจัดการเลือกตั้งใหม่ซึ่งเพิ่งผ่านไปกลับเต็มไปด้วยข้อครหาการโกง ตามมาด้วยศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเพิกถอนสิทธิผู้ลงสมัครส.ส.ที่ชนะเลือกตั้งหลายคน สร้างความเดือดดาลแก่ชาวมาลีที่ออกมาประท้วงขับไล่พร้อมกลุ่มฝ่ายค้านรัฐบาล เอ็ม 5 ซึ่งยินดีที่ประธานาธิบดีไคตาลาออกหลังรัฐประหาร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

นานาชาติไม่รับ รัฐประหาร2020 ประเทศมาลี - ปธน.แถลงลาออก เลี่ยงปะทะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง