กยศ. ขยายเวลาปรับโครงสร้างหนี้ ถึง 24 พ.ค. ผ่อนเบาไม่ต้องจ่ายเพิ่ม 3,000

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยยืนยันว่า มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ภายใต้กฎหมายปี 2566 เป็นผลดีต่อผู้กู้ทุกคน แต่พบว่ามีผู้กู้จำนวนมากยังไม่เข้ามาดำเนินการ
ล่าสุด กยศ. ขยายเวลา “ตัดยอดเดือนพฤษภาคม” จากวันที่ 17 เป็น 24 พฤาภาคม 2568 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กู้ที่ยังไม่ลงทะเบียน รีบเข้าระบบเพื่อขอคืนเงิน และปรับยอดหนี้ก่อนต้องจ่ายเงินเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีลูกหนี้ 260,000 รายที่ยังไม่ลงทะเบียนปรับโครงสร้าง ทำให้ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 3,000 บาททุกเดือน หากยังนิ่งเฉยจะต้องจ่ายเพิ่มเรื่อยๆ ทุกเดือน ซึ่งที่ผ่านมา กยศ. ได้ดำเนินการ recal ยอดหนี้ใหม่ให้กับผู้กู้ 3,800,000 นราย พบว่า จำนวน 289,000 ราย ได้เงินคืนรวม 3,399 ล้านบาท ขณะที่ 3,540,000 ราย หนี้ลดลงรวม 46,200 ล้านบาท ไม่มีผู้กู้รายใดที่ยอดหนี้เพิ่มขึ้น แต่ผู้กู้จะได้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อเข้ามาลงทะเบียนยืนยันตัวตน
ถึงแม้จะมีสิทธิ์ได้เงินคืนหรือหนี้ลดลง แต่กลับพบว่า กลุ่มขอคืนเงิน มีผู้ลงทะเบียนเพียง 26,400 ราย จากทั้งหมด 289,000 ราย กลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ มีเพียง 600,000 ราย จาก 3,540,000 บัญชี
กรณีผู้กู้ที่ถูกหักเงินเพิ่ม 3,000 บาทในเดือนเมษายน ส่วนใหญ่มีสถานะค้างชำระ และยังไม่เข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีจำนวน 510,000 ราย ขณะนี้มีเพียง 200,000 รายที่เข้าระบบ และอีก 42,000 รายปิดบัญชีไปแล้ว ยังเหลืออีก 260,000 รายที่ยังไม่ทำอะไรเลย ทั้งที่แค่ลงทะเบียนก็จะช่วยให้ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แถมบางรายได้เงินคืน หรือหนี้ลดลงกว่าครึ่ง
ตัวอย่างผู้กู้รายหนึ่งที่หนี้เดิม 279,000 บาท ต้องจ่ายรายเดือน 1,620 บาท และถูกหักเพิ่ม 3,000 บาท รวมเป็น 4,620 บาทต่อเดือน แต่เมื่อเข้าปรับโครงสร้าง หนี้เหลือ 84,900 บาท จ่ายต่อเดือนเพียง 480 บาท และไม่ต้องถูกหักเพิ่มอีก
ทั้งนี้ ขอให้ลูกหนี้รีบใช้โอกาสนี้ลงทะเบียนก่อนวันที่ 24 พฤษภาคม จะได้ไม่ต้องเสียเงินโดยไม่จำเป็น และได้ประโยชน์เต็มที่จากนโยบายใหม่ของ กยศ. ขณะที่ กยศ. จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมทุกช่องทางต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ถูกหักเงิน กยศ. 3,000 บาท ต้องทำอย่างไร? เช็กเงื่อนไข ปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระผ่อน
- กยศ. เพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ ปรับโครงสร้างหนี้ - ลดการหักเงินเดือน