Tim Cook เคยกล่าวว่า Apple ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยี และ Jobs ก็วางรากฐานไว้แบบนั้น
ช่วงหลัง ๆ มานี้เรามักจะไม่ค่อยเห็น Apple เปิดตัวเทคโนโลยีสุดว้าว ว้าวสุด ๆ เท่าไหร่นัก แต่จะเน้นไปที่การขยายระบบนิเวศของตัวเองหรือ Ecosystem ให้กว้างมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นบริษัทเดียวในโลกที่แทบจะเป็นระบบปิด คุมของตัวเองได้ทั้งหมดตั้งแต่ซอฟต์แวร์ไปจนถึงฮาร์ดแวร์ จนหลายคนสงสัยว่า Apple ที่เคยเป็นบริษัทเน้นสร้างนวัตกรรมหายไปไหน
Apple ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่มซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งทิม คุก (Tim Cook) CEO คนปัจจุบันของ Apple พยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ของบริษัทมาตลอด ไม่อยากให้เหมือน Facebook หรือ Google เมื่อ CNBC สัมภาษณ์เกี่ยวกับการลงทุนของปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffet) คุกตอบว่า “เขา (หมายถึงบัฟเฟตต์) จะไม่ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีรวมถึงในสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ เขามีความเชื่ออย่างหนักแน่นในเรื่องนี้ ส่วนที่เขาลลงทุนใน Apple เพราะบัฟเฟตต์มองว่า Apple คือบริษัทที่ขายสินค้าเพื่อผู้บริโภค” (Consumer Company)
แล้ว Apple เชื่อ (เป็น) แบบนั้นจริง ๆ หรือไม่? คุกกล่าวเสริมว่า บริษัท Apple อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่บริษัทอยู่ตรงจุดตัดของเทคโนโลยี, ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เราจึงสร้างผลิตภัณฑ์โดยดูว่าลูกค้าต้องการอะไร เราทำสิ่งนั้น
Apple ถูกมองไว้หลายแบบ ตั้งแต่ บริษัทคอมพิวเตอร์, บริษัทเทคโนโลยี, บริษัทผลิตภัณฑ์, ผู้ให้บริการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, บริษัท Mac, บริษัท iPod, บริษัท iPhone และ ร้านค้าสุดหรูเป็นต้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมุมมองกันอีกที อันที่จริงในปี 2007 สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ได้เลิกใช้คำว่า Apple Computer เหลือเพียง Apple Inc. เพื่อบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงไลน์ผลิตภัณฑ์ครั้งใหญ่ของบริษัท แต่การเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า Apple เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะหลายคนก็ยังมองว่า Apple เป็นบริษัท iPhone หรือบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่
จอบส์ ได้กล่าวประโยคนี้หลังเปิดตัว iPad เมื่อปี 2010 ว่า “เหตุผลที่ Apple สามารถสร้างผลิตภัณฑ์อย่าง iPad ได้นั่นก็เพราะว่า Apple พยายามมาโดยตลอดที่จะอยู่ตรงจุดตัดของเทคโนโลยีและศิลปศาสตร์ เพื่อให้ได้สุดยอดผลิตภัณฑ์ แต่ยังสามารถใช้งานง่ายอาศัยแค่สัญชาตญาณของมนุษย์ มันทำให้เราสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความสร้างสรรค์อย่าง iPad ขึ้นมาได้”
‘อยู่ตรงจุดตัดของเทคโนโลยีและศิลปศาสตร์’ เป็นสิ่งที่คุกยังคงพูดอยู่ในปัจจุบัน
ที่มา ZDNet, Above Avalon