รีเซต

SpaceX ทดสอบจรวด Super Heavy อีลอน มัสก์ประกาศพร้อมทดสอบในขั้นตอนต่อไป

SpaceX ทดสอบจรวด Super Heavy อีลอน มัสก์ประกาศพร้อมทดสอบในขั้นตอนต่อไป
TNN ช่อง16
21 กันยายน 2565 ( 03:18 )
58
SpaceX ทดสอบจรวด Super Heavy อีลอน มัสก์ประกาศพร้อมทดสอบในขั้นตอนต่อไป

วันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา บริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ประสบความสำเร็จในการทดสอบจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ (Super Heavy) ที่มีชื่อว่าบูสเตอร์ 7 (Booster 7) ในรูปแบบ Static Fire หรือการทดสอบติดเครื่องยนต์จรวดแรพเตอร์ (Raptor) จำนวน 7 เครื่องยนต์เป็นระยะเวลาสั้น ๆ อีลอน มัสก์ ผู้บริหารบริษัทประกาศพร้อมทดสอบแบบติดเครื่องยนต์จรวดพร้อมกัน 33 เครื่องยนต์ ในขั้นตอนต่อไป


การทดสอบในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมทดสอบนำยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) บินขึ้นสู่วงโคจรของโลก การทดสอบมีขึ้นบริเวณศูนย์พัฒนาและปล่อยจรวดสตาร์เบส (Starbase) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริเวณชายหาดโบคาชิกา เมืองบราวส์สวิลล์ รัฐเท็กซัส ตอนใต้สุดของประเทศสหรัฐอเมริกาติดชายแดนประเทศเม็กซิโก


จรวดซูเปอร์เฮฟวี่ (Super Heavy)


จรวดซูเปอร์เฮฟวี่ (Super Heavy) โครงสร้างมีความสูง 70 เมตร ถูกออกแบบเพื่อใช้สำหรับขนส่งยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจร การทดสอบจรวดถูกยกขึ้นสู่ฐานปล่อยที่จะถูกใช้งานจริงในภารกิจขนส่งอวกาศ จรวดรุ่นนี้ถูกออกแบบให้สามารถเดินทางกลับโลก โดยลงจอดบนแขนหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งบริเวณฐานปล่อยจรวด


ยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship)


ยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) โครงสร้างขนาดใหญ่ความสูง 50 เมตร ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานในภารกิจที่หลากหลายรูปแบบทั้งการขนส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจร การเติมเชื้อเพลิงในอวกาศ การเดินทางไปดวงจันทร์และดาวอังคาร ทั้งนี้ยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ที่ถูกใช้งานในแต่ละภารกิจจะได้รับการออกแบบที่แตกต่างกันเล็กน้อย


ทั้งจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ (Super Heavy) และยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) มีความสูงรวมกัน 120 เมตร นับว่าเป็นจรวดที่ทรงพลังและมีความสูงมากที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกสำหรับกำหนดการทดสอบนำยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ขึ้นสู่วงโคจรคาดว่าจะมีขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนับจากนี้ โดยยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) เป็นยานอวกาศที่นาซาเลือกใช้สำหรับการนำมนุษย์ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ในโครงการอาร์ทิมิส 3 (Artemis 3) ปี 2025 ในภารกิจดังกล่าวยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) จะได้รับการปรับแต่งเพื่อภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์โดยเฉพาะและใช้ชื่อยานว่าสตาร์ชิป เอชแอลเอส (Starship HLS) 



ที่มาของข้อมูล Space.com

ที่มาของรูปภาพ Twitter.com/elonmusk

ข่าวที่เกี่ยวข้อง