จีนกลับมาส่งออก “แม่เหล็กแร่หายาก” แค่เดือนเดียว พุ่งกว่า 2 เท่าตัว หลังดีลการค้ากับสหรัฐฯที่เจนีวา

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จีนเพิ่มการส่งออกแม่เหล็กแร่หายาก (Rare earth magnets) อย่างมีนัยสำคัญในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รวมถึงส่งออกไปยังสหรัฐ ท่ามกลางภาวะขาดแคลนทั่วโลกที่เคยทำให้โรงงานบางแห่งต้องหยุดผลิต และยิ่งซ้ำเติมความตึงเครียดทางการค้า
ข้อมูลศุลกากรจีนระบุว่า ปริมาณการส่งออกแม่เหล็กในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 3,188 ตัน เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากเดือนพฤษภาคมที่มีเพียง 1,238 ตัน ซึ่งเป็นช่วงที่จีนใช้มาตรการควบคุมการส่งออก โดยเฉพาะการจำกัดแร่หายากบางชนิดเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 46 ตัน เป็น 353 ตัน
อย่างไรก็ตามแม้ตัวเลขจะเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณโดยรวมยังคงต่ำกว่าระดับปกติก่อนที่จีนจะเริ่มควบคุมการส่งออกในเดือนเมษายน โดยปริมาณในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ประมาณ 2 ใน 3 ของค่าเฉลี่ยรายเดือนของปีที่แล้ว
ทั้งนี้จีนได้ประกาศควบคุมการส่งออกแร่หายาก 7 ชนิด จากทั้งหมด 17 ชนิด รวมถึงแม่เหล็กถาวรที่มีความสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน และเครื่องบินรบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของสหรัฐอย่างมาก และกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯยอมทำข้อตกลงหยุดยั้งความขัดแย้งทางการค้า ซึ่งหลังจากที่ผู้แทนการค้าของสองฝ่ายได้เข้าสู่โต๊ะเจรจากันในกรุงเจนีวาเมื่อเดือนมิถุนายน ก็สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ระดับหนึ่ง และประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าจีนตกลงจะกลับมาส่งออกแร่หายากและแม่เหล็กอย่างเต็มที่
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นายสก็อตต์ เบสเซนต์ กล่าวว่า ปริมาณแม่เหล็กจากจีนเริ่มไหลกลับมาแล้ว แต่ยังคงไม่เพียงพอ
สำหรับมาตรการควบคุมการส่งออกแร่หายากของจีนไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่กับสหรัฐฯ แต่สร้างความกังวลให้กับผู้ผลิตทั่วโลก ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศเร่งเจรจากับปักกิ่งเพื่อขอผ่อนปรนข้อจำกัด สหภาพยุโรป (EU) เห็นสัญญาณดีเล็กน้อยในการออกใบอนุญาตส่งออกแม่เหล็ก หลังหัวหน้าการค้าของ EU นายมารอช เซฟโควิช พบหารือกับรัฐมนตรีพาณิชย์จีน นายหวัง เหวินเทา เมื่อเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามปัญหาเชิงระบบยังคงอยู่ และจะถูกหยิบยกเป็นวาระสำคัญใน การประชุมสุดยอด EU–จีน ณ กรุงปักกิ่ง สัปดาห์นี้
ขณะที่อินเดียนั้น จีนยังไม่อนุมัติใบอนุญาตส่งออกแม่เหล็กให้กับผู้ผลิตรถยนต์อินเดียแม้แต่รายเดียวตั้งแต่เดือนเมษายน โดยมีใบสมัครค้างอยู่ราว 30 ฉบับ อย่างไรก็ตามยอดส่งออกไปอินเดียในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 172 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 150 ตันในเดือนก่อน
ทั้งนี้จีนผลิตแม่เหล็กแร่หายากถาวรคิดเป็น ราว 90% ของปริมาณทั่วโลก ทำให้การหยุดส่งออกในช่วงที่ผ่านมาเร่งให้รัฐบาลชาติตะวันตกต้องหาทางพึ่งพาตนเอง กระทรวงกลาโหมสหรัฐเพิ่งตกลงลงทุนในบริษัท MP Materials Co. ซึ่งเป็นผู้ขุดแร่หายากรายเดียวในสหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานผลิตแม่เหล็กขนาดใหญ่
ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนประกาศจะใช้นโยบายไม่ยอมผ่อนปรน (Zero tolerance) ต่อการลักลอบขนแร่หายากออกนอกประเทศ และจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงควบคุมการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างผิดกฎหมาย
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
