ศบค.จ่อทบทวน "ล็อกดาวน์" น้อมรับคำตำหนิ ปมผู้ติดโควิด เสียชีวิตคาบ้านพัก
ศบค.จ่อ เพิ่มมาตรการเข้ม แบ่งโซนสี-ล็อคดาวน์ แนะ ให้จ้บตา ศบค.เคาะอย่างไร ใน1-2 วันนี้ น้อมรับคำวิจารณ์ ชี้ ครอบครัวอาม่า เกมเมอร์ดัง ก็เหมือนครอบครัวของเรา
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ศบค.ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ตอบข้อซักถามถึงกรณีที่ มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติ จะมีการระงับการ ให้เดินทางเข้าประเทศหรือไม่ ว่า
การเดินทางจากต่างประเทศนั้นยังมีระบบการออกใบอนุญาต ให้เดินทางเข้าประเทศโดยกระทรวงการต่างประเทศและเมื่อเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องแล้วก็ได้รับการดูแลอยู่ใน สถานกักตัวที่รัฐจัดให้ และสถานกักตัวทางเลือก ในเรื่องของการชะลอการออกใบอนุญาตเข้าประเทศนั้น ในที่ประชุม ศบค.มีการทบทวน และอยากให้ทุกคนติดตามว่าการประกาศจากกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นอย่างไร
ส่วนกรณีกลุ่มคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น อินเดีย ปากีสถาน จะต้องกัดตัว 14 หรือ 21 วัน กันแน่ นั้น เรื่องดังกล่าวทางศบค. ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเพราะเป็นสิทธิที่ประชาชนไทยจะเดินทางกลับบ้าน เพียงแต่จำเป็นต้องได้รับการดูแลไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ ออกมาจากระบบการกักตัว ทั้งนี้จากการรายงานก่อนหน้านี้ของ ศบค. ถึงศักยภาพการรองรับการกักตัว
ได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้ในรูปแบบของฮอสปิเทล หรือโรงพยาบาลสนามบ้างแล้วซึ่งก็ต้องขอขอบคุณในข้อเสนอแนะและความเป็นห่วงที่ทุกคนส่งมา แต่อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนได้ติดตามการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ อย่างใกล้ชิดในระยะนี้เนื่องจากมีการพูดคุยหารือใกล้ชิดกันอยู่
มีการพูดคุยถึงเรื่องการกักตัว ของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเพราะจากการรายงานเรายังพบผู้ติดเชื้อได้ในระยะหลัง 10 วัน เช่น 11 วัน 13 วัน บางคนมีรายงานว่าหลังจากที่ผู้ที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล 14 วันแล้ว ออกมาจากโรงพยาบาลแล้วก็มีรายงานยืนยันว่าติดเชื้อได้ยาวถึง 21 วันเป็นต้น ซึ่งทางกรมควบคุมโรคได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ
และมีการติดตามรายงานอย่างใกล้ชิดจึงอยากเน้นยามผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน ในช่วงนี้ด้วยว่าหลังจากที่ ผู้รับการรักษากลับบ้านไปแล้ว ยังจะต้องแยกกัก ไม่ไปสัมผัสผู้อื่นหรือแม้แต่คนในครอบครัวอีกเป็นระยะเวลา 14 วัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์ในประเทศขณะนี้มาตรการกักตัวอยู่ที่บ้านของผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง จะเป็นอย่างไร พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การที่พี่น้องประชาชนรอเตียงนั้นขอเรียนว่าไม่มีใครสบายใจ และในหลายหลายครั้งหลายคนยอมรับว่ามันเกิดขึ้นกับตัวเรา คนรอบข้างเรา พวกเราจึงพยายามช่วยกันหาเตียง แต่ในแง่ของการจัดการเตียงอย่างที่เรียนให้ทราบว่าในกรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยกลับบ้านได้จำนวน 170 ราย ก็จะมีกระบวนการทำเรื่องให้กลับบ้าน และจะต้องดูแลอย่างไรให้ตัวเองปลอดภัย บุคลากรทางการแพทย์ได้เล่าให้ฟังว่าการทำเรื่องให้บุคคลกับบ้านนั้นมีกระบวนการหลายขั้นตอนมากๆ
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า และการจะรับผู้ป่วยใหม่นั้นไม่สามารถทำได้ปุบปับ ทันทีแต่จะต้องมีการเตรียมพื้นที่เต็มเตียงเพื่อที่จะรับผู้ป่วยใหม่ดังนั้นจึงเกิดการรอเตียง ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าการอยู่บ้านรอเตียง โดยไม่ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาได้หรือไม่ ทางศบค. มีการทบทวนอยู่ทุกวัน แต่มีการรายงานบางเคสเกิดความไม่สบายใจ เพราะเริ่มต้นวันที่หนึ่งอาการยังปกติดี เข้าสู่ระบบแล้วแต่ได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลว่ายังจำเป็นต้องรอเตียง จากนั้นเราจะเห็นอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว หรือ การที่สภาพบ้านไม่เอื้ออำนวย
ซึ่งเราเน้นย้ำว่าการแยกกักอยู่ที่บ้านนั้นจะต้องมีการแยกพื้นที่กับบุคคลในครอบครัว ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน พยายามไม่ใช้ห้องน้ำเดียวกัน ไม่มีการคลุกคลีใกล้ชิด ก็พบว่าทำได้ยาก ทำให้เราได้เห็นข่าวในตลอดว่า ในกรณีผู้ป่วยหนึ่งราย เกิดการติดเชื้อไปยังบุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็กติดเชื้อ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ยังไม่สามารถระบุว่า ให้ประชาชนกักตัว หรือแยกกักรอเตียงอยู่ที่บ้าน ยังถือว่ามาตรฐานยังเป็นอันตรายอยู่
เมื่อถามว่ามีโอกาสหรือไม่ที่จะล็อคดาวน์พื้นที่บางจังหวัด พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เรื่องล็อคดาวน์นั้น ในวันพฤหัส ที่ 29 เม.ย. จะมีการทบทวนมาตรการในเรื่องของพื้นที่ โดยจะพิจารณาว่าจะมีการเพิ่มมาตรการอย่างไร จะล็อคดาวน์หรือไม่ วันนี้ทางกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขได้หารือกับศบค. และในช่วง 1-2 วันนี้คงจะได้เห็นมาตรการการปรับความเข้มข้นมากขึ้นในบางพื้นที่แต่ละกิจการกิจกรรม แต่ละจุด จึงขอให้ทุกคนได้ติดตาม อย่างใกล้ชิดด้วย
ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกฝ่ายโดยเฉพาะสื่อมวลชนที่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน สามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐ ภาคสาธารณะสุขได้ แต่ขอให้ชี้แนะรวมไปถึงการให้กำลังใจบุคลากรในการทำงานด้วย อย่างไรก็ตามประชาชนอาจเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อาจมีความไม่พอใจ มีการตำหนิติเตียน แต่ถ้าดูที่มาที่ไปก็เพราะเรามีความเป็นห่วงประเทศไทยมีความรักใน ครอบครัวอาม่า ครอบครัวคุณอัพ ซึ่งก็เหมือนกับครอบครัวเรา เพราะฉะนั้นการที่เราอาจจะส่งเสียงทะเลาะกันบ้างในวันนี้เพราะเรามีความมุ่งมั่นเดียวกัน ต้องการทำให้ระบบดีขึ้น ขอให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากันจับมือกันและร่วมมือกัน ถูกเถียงกันได้บ้างแต่ถึงอย่างไรเราก็ร่วมมือกัน