รีเซต

TMILLชี้แป้งสาลีขายดี คำสั่งซื้อล้น-ขยายฐาน

TMILLชี้แป้งสาลีขายดี คำสั่งซื้อล้น-ขยายฐาน
ทันหุ้น
5 สิงหาคม 2564 ( 07:45 )
84
TMILLชี้แป้งสาลีขายดี คำสั่งซื้อล้น-ขยายฐาน

 

ทันหุ้น - TMILL ชี้ความต้องการบริโภคแป้งสาลีช่วงโควิด-19 พุ่งขึ้น ดันออเดอร์ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งเดินหน้าขยายตลาดใหม่นิวนอร์มอล ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 70-75% พร้อมปรับกลยุทธ์บริหารองค์กร เน้นคุมต้นทุน และบริหารสินค้าคงคลัง

 

นางแววตา กุลโชตธาดา รองผู้อํานวยการฝ่ายการเงินและบัญชี บริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จํากัด (มหาชน) หรือTMILL ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งสาลี เปิดเผยว่า สำหรับการประกาศผลการดำเนินงานของไตรมาส 2/2564บริษัทคาดว่าจะมีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงวันที่ 16สิงหาคม 2564 นี้

 

ส่วนแนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาส 3/2564ในตอนนี้ยังคงคาดการณ์ได้ยาก เนื่องจากในปีนี้สถานการณ์ไม่ค่อยปกติ เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในเชิงของอุตสาหกรรมและธุรกิจ แต่คาดว่าในช่วงปลายปีสถานการณ์ต่างๆ จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

 

*คุมเข้มต้นทุน

 

แม้ว่าในปัจจุบันวิกฤติโรคระบาดจะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการแพร่ระบาดที่ขยายตัวเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้บริษัทยังคงได้รับคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่องอยู่ โดยมองว่าไม่ว่าอย่างไรคนยังคงมีความต้องการบริโภคอยู่ โดยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบในเชิงของต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบข้าวสาลีมากกว่า

 

โดยจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้สินค้าหน้าท่ายังมีการค้างส่งอยู่เป็นจำนวนมาก ซัพพลายที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการขนส่งระหว่างประเทศ ส่งผลให้ราคาขนส่งสินค้า (เฟรท) ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงด้วยสภาพอากาศที่แห้งแล้งทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวสาลีที่มีคุณภาพตามเกณฑ์ออกสู่ตลาดลดลง ซึ่งปัจจุบันราคาวัตถุดิบข้าวสาลีปรับตัวขึ้นสูงกว่า 30-40%เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่เหนือระดับ 100ดอลลาร์ต่อตัน

 

ปรับกลยุทธ์องค์กร

 

ประกอบกับการที่ประเทศจีนหันมานำเข้าผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นอีกปัจจัยหนุนให้ราคาข้าวสาลีปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอีกด้วย สะท้อนต่อต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มขยายตัวจ่อ แต่บริษัทก็ได้ปรับกลยุทธ์การบริหารภายในองค์กรใหม่ และมุ่งเน้นการบริหารจัดการต้นทุน รวมถึงการบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสม เพื่อลดต้นทุนของบริษัทและลดภาระลูกค้าให้ได้น้อยที่สุด

 

อย่างไรก็ดีในปัจจุบันบริษัทยังคงได้รับความสนใจส่งออเดอร์ใหม่จากลูกค้าทั้งรายเดิมและรายใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยปัจจัยเรื่องต้นทุนวัตถุดิบอาจทำให้ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาได้ทั้งหมด

 

**รักษาสต๊อก

 

จากปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมาทำให้ประเมินว่าอัตรากำไรขั้นต้นในช่วงครึ่งหลังปี 2564มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วง 6เดือนแรกของปีนี้ และเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และบริษัทคาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) โดยเฉลี่ยในปี 2564 อาจทรงตัวอยู่ที่ระดับราว 70-75%ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ แม้ว่าความต้องการบริโภคยังมีแนวโน้มปรับตัวสูง ขณะที่สินค้าคงคลัง (Stock) ที่มีในปัจจุบันนั้น ในเบื้องต้นคาดว่ายังสามารถรองรับการผลิตให้ลูกค้าได้จนถึงสิ้นปีนี้

 

"การกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 และ 3 นับตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันนั้น ในแง่ของการผลิตยังไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด แต่ในแง่ของการขยายตลาดอาจได้รับผลกระทบอยู่บ้าง เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าหาลูกค้าต้องมีความระมัดระวังสูง แต่อย่างไรก็ดีเรายังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าไว้อย่างต่อเนื่อง ทำให้มองว่าเมื่อใดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การรับคำสั่งซื้อใหม่ๆ จากกลุ่มลูกค้ารายใหม่จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว" นางแววตา กล่าว

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง