ผลวิจัยชี้ “ความเหงา” เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยใน “ผู้หญิงวัยกลางคน” สูง 3 เท่า

ผลการศึกษาพบว่า "ความเหงา" ทำให้ผู้หญิงวัยกลางคน เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 3 เท่า
งานวิจัยล่าสุดจากออสเตรเลียเผยให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง ความเหงาเรื้อรัง กับ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในกลุ่มผู้หญิงวัยกลางคน โดยระบุว่าผู้หญิงที่รู้สึกเหงาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่า 15 ปี มีความเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่ไม่รู้สึกเหงาถึง 3 เท่า
การศึกษานี้อ้างอิงข้อมูลจาก โครงการวิจัยระยะยาวด้านสุขภาพของผู้หญิงออสเตรเลีย ซึ่งติดตามสุขภาพของผู้เข้าร่วมกว่า 57,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 48-55 ปี เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยมีการวิเคราะห์ร่วมกันของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์, มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นซิดนีย์
ผลการศึกษาเรื่องความเหงาพบว่า
- ผู้หญิงที่ไม่มีความรู้สึกเหงาเรื้อรัง มีความเสี่ยงเสียชีวิตอยู่ที่เพียง 5%
- ขณะที่ผู้หญิงที่มีความรู้สึกเหงาอย่างต่อเนื่อง เสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 15%
เนตา ฮากานี ผู้เขียนหลักของการศึกษา แนะนำให้ความเหงาควรถูกนำมาพิจารณาในการประเมินสุขภาพพื้นฐาน เช่นเดียวกับความดันโลหิตสูงหรือระดับคอเลสเตอรอล พร้อมเรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบของความเหงาต่อสุขภาพจิตและร่างกาย
เนตา ฮากานี ผู้เขียนหลักของการศึกษา แนะนำให้ความเหงาควรถูกนำมาพิจารณาในการประเมินสุขภาพพื้นฐาน เช่นเดียวกับความดันโลหิตสูงหรือระดับคอเลสเตอรอล พร้อมเรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบของความเหงาต่อสุขภาพจิตและร่างกายฃ
ด้าน ศาสตราจารย์เมโลดี ติง จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ให้ความเห็นว่า ผู้หญิงวัยกลางคนมักต้องเผชิญกับภาระการดูแลทั้งลูกและพ่อแม่สูงอายุ รวมถึงต้องผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านในชีวิต เช่น วัยหมดประจำเดือน, การเกษียณอายุ, หรือการที่ลูกย้ายออกจากบ้าน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่การ แยกตัวทางสังคม และกระตุ้นความรู้สึกเหงา
งานวิจัยยังระบุถึงความสัมพันธ์เชิง “ขนาดปริมาณ” (dose-dependent relationship) ซึ่งหมายความว่า ยิ่งผู้หญิงรู้สึกเหงาบ่อย ความเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนวัยก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น แม้จะยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบระยะยาวในเพศชาย แต่ผลกระทบของความเหงาในช่วงวัยกลางคนดูเหมือนจะส่งผลชัดเจนมากกว่าต่อผู้หญิง
การศึกษานี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ BMJ Medicine และตอกย้ำถึงความจำเป็นในการจัดการกับปัญหา “ความเหงา” อย่างจริงจังทั้งในระดับบุคคลและนโยบายสาธารณสุข.