รีเซต

‘ประเทศที่มีผู้ฉีดวัคซีนมากที่สุดในโลก...เผชิญการแพร่ระบาดใหม่’

‘ประเทศที่มีผู้ฉีดวัคซีนมากที่สุดในโลก...เผชิญการแพร่ระบาดใหม่’
TNN World
16 พฤษภาคม 2564 ( 07:39 )
204

 

ข่าววันนี้ ‘ประเทศที่มีผู้ฉีดวัคซีนมากที่สุดในโลก...เผชิญการแพร่ระบาดใหม่’ ตามรอยสาธารณรัฐเซเชลส์ กับปัญหาโควิด-19 สายพันธุ์นานาชาติและการทำใจยอมรับว่า โลกจะต้องอยู่กับโควิดไปอีกนาน 

 

 

ขณะที่ประเทศอื่น ๆ พบกับความยากลำบากในการจัดหาวัคซีน สาธารณรัฐเซเชลส์อยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้าง ”น่าอิจฉา” ประชากรมากกว่า 61.4% ได้รับวัคซีนแล้ว ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราผู้ฉีดวัคซีนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
แต่นั่นยังไม่เพียงพอที่จะหยุดการระบาดของโควิด-19 ได้

 

 

 

สถานการณ์ของหมู่เกาะเซเชลส์

 


เมื่อเดือนที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อในหมู่เกาะกลางมหาสมุทรอินเดียที่มีประชากร 98,000 คนแห่งนี้พุ่งทะยานขึ้น กระตุ้นให้ทางการต้องเพิ่มมาตรการป้องกันเข้มงวด โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ายอดผู้ติดเชื้อปัจจุบันอยู่ที่ 2,700คน ซึ่ง 33% ของจำนวนนี้ เป็นผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไปแล้ว

 


ข้อเท็จจริงคือ แม้สาธารณรัฐเซเซลส์มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรจำนวนมาก แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแห่งศตวรรษนี้ ยังตามมาหลอกหลอน คำถามคือ พวกเขาจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประเทศจากโรคนี้ได้หรือไม่

 


ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวว่า การระบาดครั้งนี้ไม่ใช่สัญญาณของการฉีดวัคซีนที่ไม่เป็นผล แต่เป็นสิ่งย้ำเตือนให้โลกได้ประจักษ์ว่า แม้ในประเทศที่มีสัดส่วนการได้รับวัคซีนสูงแล้ว ก็ยังไม่ควรประมาท

 

 


เซเชลส์ลดการ์ดรับนักท่องเที่ยว

 

 


ย้อนกลับไปในเดือนที่ผ่านมา เชเซลส์มั่นใจในการรับมือต่อโควิด-19 ของตนเองมาก จน ‘ลดการ์ดลง’ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เริงร่าทั่วเกาะ

 

 


ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยนิด และการฉีดวัคซีนในคนจำนวนมากที่กำลังดำเนินการอยู่ ประเทศซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักแห่งนี้ เปิดประเทศอีกครั้งเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากแทบทุกประเทศ  ซึ่งหมายความว่าใครก็ตามที่มีผลตรวจโควิดเป็นลบ สามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว 

 

 


ถือเป็นก้าวใหญ่ของประเทศที่กว่า 72% ของ GDP มาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และมีส่วนในการจ้างงานมากกว่า 30% ของประชากร แน่นอนว่าการเปิดประเทศเช่นนี้ มีผลต่อผู้คนทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

 


ณ จุดนั้น หมู่เกาะเซเชลส์มีบันทึกจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 3,800 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตเพียง 16 ราย

 

 

 


เปิดประเทศ...ผู้ติดเชื้อพุ่งทันที

 

 


ทันใดนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อรวมเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทะยานสู่จำนวน 9,184 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 32 ราย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันพฤหัสบดี (13 พฤษภาคม) 

 

 


ยังไม่แน่ชัดว่า การระบาดครั้งนี้มีต้นตอมาจากอะไร แต่ซิลเวสเตอร์ ราเดอกอน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและท่องเที่ยวเปิดเผยว่า เชื้อไวรัสแฝงตัวอยู่ในประเทศมาตลอด และเกิดการระบาดเมื่อผู้คนได้รับวัคซีนและรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการออกไปที่สาธารณะ รวมไปถึงการพัฒนาระบบการติดตามและการทดสอบการติดเชื้อ ที่ทำให้รัฐบาลตรวจเจอผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

 

 


ยอดผู้ติดเชื้อ ที่ผ่านการฉีดวัคซีนเรียบร้อย

 

 


สาธารณรัฐเซเชลส์พึ่งพาวัคซีน Sinopharm และ Covishield จากประเทศจีน และ AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศอินเดีย โดยจากจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนทั้งหมดนั้น 57%ได้รับวัคซีน Sinopharm ซึ่งฉีดให้แก่ประชากรอายุ 18-60 ปี และ 42% ได้รับวัคซีน Covishield ซึ่งฉีดให้แก่ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

 

 


ประมาณ 37% ของผู้ที่ได้รับเชื้อก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม เป็นผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว แต่รัฐบาลกล่าวว่า ข้อมูลยังไม่สรุปออกมาว่าเป็นวัคซีนยี่ห้อใด

 

 


“กว่า 20% ของผู้ที่ถูกนำตัวส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ได้รับวัคซีนแล้ว แต่เป็นรายที่มีอาการไม่ร้ายแรงนัก” รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเมื่อวันเสาร์ (15 พฤษภาคม) 

 

 


ทั้งนี้ เขายังระบุว่า คนที่ได้รับวัคซีนแล้วแทบไม่มีอาการร้ายแรง และไม่มีผู้เสียชีวิตเป็นผู้ที่เคยได้รับวัคซีนเลย มีเพียงสองรายเท่านั้นที่อยู่ในห้องไอซียู

 

 


“บทสรุปมีอยู่ว่าวัคซีนช่วยผู้คนได้ ไม่ว่าใครที่ฉีดวัคซีนแล้วจะไม่สร้างความลำบากเพิ่มเติม เราเชื่อว่าวัคซีนทั้งคู่ ช่วยประเทศนี้จากสถานการณ์ที่เลวร้ายได้” 

 

 


วัคซีนเหล่านี้ บอกอะไรเราได้บ้าง

 

 


การที่มีคนได้รับวัคซีน แต่ยังติดเชื้อโควิด-19 ได้ ชี้ให้เห็นว่าวัคซีนไม่ได้ผลเสมอไป อย่างไรก็ตาม ทางการท้องถิ่นในเซเชลส์ และผู้เชี่ยวชาญ รวมถึง WHO ระบุว่าสถานการณ์ตอนนี้ โดยรวมไม่ “เหนือความคาดหมาย” 

 

 


แม้ว่าวัคซีนทั้งสองยี่ห้อได้รับการรับรองจาก WHO แล้ว ก็ไม่มีอันไหนที่รับรองผล 100% ต่อโควิด-19 

 

 


บริษัท AstraZeneca อ้างว่าวัคซีนของตน มีประสิทธิภาพต้านอาการของโควิด-19 อยู่ที่ 76% และสามารถยับยั้งการป่วยรุนแรงได้ 100%

 

 


ขณะที่ Sinopharm มีประสิทธิภาพในการต้านอาการของไวรัสโคโรนาและการเข้าโรงพยาบาลที่ 79% อ้างอิงจากข้อมูลการทดลองจากนานาชาติครั้งที่ 3

 

 

 


โควิดจะไม่มีวันหายไป...เราทำได้แค่ป้องกัน

 

 


ดอกเตอร์ ริชาร์ด มิฮิโก ผู้ประสานงานโครงการวัคซีนป้องกันโรค ที่สำนักงานประจำภูมิภาคแอฟริกาของ WHO (องค์การอนามัยโลก) กล่าวว่า ข้อมูลของเซเชลส์นั้นตรงกับหลักฐานว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้นมีประสิทธิภาพสูง ต่อการป้องกันโรคในขั้นรุนแรง การรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิต

 

 


“ไม่มีเหตุผลที่การระบาดของโรคจะสิ้นสุดลง จนกว่าทุกคนจะได้กับการป้องกัน” เขาระบุเพิ่มเติม

 

 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไมเคิล ลิน อาจารย์ด้านประสาทชีววิทยา และชีววิศวกรรม มหาวิทยาลัย Stanford ระบุว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพต่อคนในเกาะทั้งหมดเพียง 20% ซึ่งยังไม่ถึงขั้นควบคุมผู้ติดเชื้อได้ ถึงแม้พวกเขาจะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

 

 

 


สายพันธุ์อินเดียยังมาไม่ถึงที่นี่

 

 


สำนักข่าวในหมู่เกาะเซเชลส์รายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่ตรวจพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ในหมู่เกาะเซเชลส์ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์อินเดีย 

 

 


ราเดอกอน ยอมรับว่าเป็นไปได้ว่าอาจมีไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ จากนานาประเทศแอบแฝงอยู่ แต่การตรวจสอบสารทางพันธุกรรมที่ยังมีข้อจำกัด ทำให้ไม่มีการตรวจพบ

 

 


หากเชื้อจากแอฟริกาใต้เริ่มแพร่ระบาด อาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน โดยเฉพาะ AstraZeneca ที่แสดงประสิทธิภาพต่ำต่อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกา

 

 


เครื่องเตือนใจถึงโควิด-19 

 

 


หมู่เกาะเซเชลส์คือเครื่องเตือนใจว่า แม้มีการฉีดวัคซีนหมู่ในผู้คนจำนวนมาก แต่การติดเชื้อก็ยังไม่สิ้นสุดลง 

 


“วัคซีนมีประโยชน์เพื่อลดการติดเชื้อขั้นรุนแรง แต่อาจไม่ได้ให้ภูมิคุ้มกัน หรือการป้องกันการติดเชื้ออย่างสมบูรณ์ต่อเชื้อโควิด-19 มันเป็นเพียงภาพสะท้อนถึงความมองโลกในแง่ดีขั้นสุดของพวกเราก็ว่าได้” เจเรมี ลิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดโรงเรียนสาธารณสุข ซอวซีฮอค มหาวิทยาลัยแห่งชาติชาติสิงคโปร์ ระบุ 

 

 


เซเชลส์ไม่ใช่โลกทั้งใบ

 

 


แต่คาสซีย์ เบอรี ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันจากมหาวิทยาลัย Murduch ในกรุงเพิร์ธ ตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์ในเซเชลส์ไม่ใช่ภาพสะท้อนของสถานการณ์โลก 

 

 


เบอรีระบุว่า อัตราการติดเชื้อของคนที่ฉีดวัคซีนแล้วขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ชนิดวัคซีนที่ได้รับ และพันธุกรรมของประชากร ภูมิคุ้มกันหมู่จะสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในประเทศที่ใช้วัคซีนประสิทธิภาพสูง เช่น Pfizer ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% 

 

 


เธอยังกล่าวว่า การได้วัคซีนใด ๆ ก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงปรารถนามากกว่า การไม่ได้ฉีดวัคซีนอะไรเลย และวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำ ยังน่าพิศมัยกว่าการต้องเผชิญกับอัตราการเสียชีวิต 1% ของไวรัสมหากาฬชนิดนี้โดยลำพัง 

 

 


“วัคซีนจะมีประสิทธิภาพมากในการป้องกันการเสียชีวิต และการได้รับวัคซีนใด ๆ ก็ตามที่คุณสามารถเข้าถึงได้ คือข้อได้เปรียบ และมันดีกว่าการรอวัคซีนที่สมบูรณ์แบบอย่างแน่นอน” เบอรีกล่าวย้ำ 

 

 


เธออธิบายว่า หมู่เกาะเซเชลล์คือเรื่องราวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน ขณะเดียวกันก็เป็นคำเตือนว่าวัคซีนไม่อาจเยียวยาทุกสิ่ง และประเทศต่าง ๆ ก็ต้องคำนึงว่ามันยังมีไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ และการติดเชื้อแบบใหม่อยู่

 

 


“เราทุกคนกำลังแข่งขันเพื่อรับการฉีดวัคซีน แต่ก็ยังจำเป็นต้องคำนึงว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมก็สำคัญ อากาศในที่โล่ง และหน้ากากอนามัยก็เป็นการป้องกันล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ฉันคิดว่ามันก็ยังจำเป็นอยู่” เบอรี ทิ้งท้าย

 

 


 โลกจะต้องอยู่กับโควิด-19 ต่อไป

 

 


เจนนิเฟอร์ หวง นักวิจัยด้านระบาดวิทยาของบริษัทระดมสมอง RAND จากแคลิฟอร์เนีย ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีทางเลือกในการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อจำกัดด้าน ‘อุณหภูมิ’ ที่วัคซีนบางชนิดจำเป็นต้องใช้ 

 


“ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข พวกเขายอมรับมากขึ้นว่าวัคซีนมีความสำคัญต่อการบรรเทาอาการจากโควิด -19 แต่ก็ไม่สามารถกำจัดการแพร่กระจายหรือการแพร่ระบาดได้”

 

 


"ดังนั้น โควิดจะไม่หายไปไหน สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ โลกจะต้องอยู่กับโควิดต่อไป"

 

 

 


เรื่อง : นราธร เนตรากูล
ภาพ : Reuters

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง