รีเซต

ดร.พิสิฐ แนะเพิ่มมุมมองน้ำบาดาล เชื่อทำให้ทุกหมู่บ้านในไทยมีน้ำสะอาดใช้ได้ทั่วถึง

ดร.พิสิฐ แนะเพิ่มมุมมองน้ำบาดาล เชื่อทำให้ทุกหมู่บ้านในไทยมีน้ำสะอาดใช้ได้ทั่วถึง
ข่าวสด
3 ธันวาคม 2564 ( 18:19 )
81

3 ธ.ค. ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในที่ประชุมสภา ในรายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยได้ขอบคุณ กมธ. ที่ได้ทำงานอย่างเข้มแข็ง และนำข้อมูลมาให้สภาได้พิจารณา ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ ซึ่งในการอภิปรายครั้งนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากรายงานฉบับนี้ เพียงแต่ขอเสนอมุมมองอีกด้าน เนื่องจากเห็นว่าเรื่องของน้ำเป็นเรื่องสำคัญของโลก ที่กำลังประสบปัญหาโลกร้อน มีเรื่องของ SDGs (Sustainable Development Goals) ว่าภายในปี 2030 นี้ คนทั่วโลกจะต้องมีน้ำสะอาดใช้

 

ดร.พิสิฐ กล่าวว่า ตนรู้สึกเสียดายที่ กมธ. ได้ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบนี้เพียง 2 มิติ ที่มองเพียงเรื่องของน้ำท่า และลุ่มน้ำเท่านั้น แต่อยากให้ได้ศึกษาเป็น 3 มิติ ในเชิงลึกด้วย เพราะเรามีน้ำบาดาลอยู่มากมาย หากมองเพียง 2 มิติ จะทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ตัดไม้ทำลายป่า ใช้ที่ดินสำหรับเกษตรกรรมมาใช้เพื่อการกักเก็บน้ำเป็นต้น แต่หากทำแบบ 3 มิติแล้ว โครงการที่เกิดขึ้นจะไม่กระจุกตัว ไม่ทำให้เงินลงทุนไปอยู่ที่โครงการใหญ่ แต่จะกระจายแก้ปัญหาทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการกระจายรายได้ เพราะขณะนี้ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาที่กระทบคนทั่วทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกษตร หรือการมีน้ำกินน้ำใช้

 

 

“ภูเก็ตก็เคยมีปัญหาเรื่องขาดแคลนประปา ระยองบ้านของคุณหมอบัญญัติ ก็มีปัญหาเรื่องน้ำ อีสานก็เช่นกัน แต่ละปีเมืองไทยมีน้ำจากฟ้าตกมามากมาย ส่วนใหญ่ระเหยกลับไปในอากาศ แต่ที่เก็บน้ำท่าให้เราใช้มีเพียง 30% เท่านั้น แต่อีก 12% ซึมลงไปใต้ดิน และที่ลงไปใต้ดินเรานำมาใช้เพียง 2% เท่านั้น หรือประมาณ 14,000 ล้าน ลบ.เมตร” ดร.พิสิฐกล่าว

 

พร้อมกับระบุว่า ประเทศไทยเราโชคดีที่มีน้ำบาดาลจำนวนมหาศาล ถึง 1.13 ล้าน ล้านลบ.เมตร อยู่ใต้ดินทั่วทั้งประเทศ ขณะที่น้ำผิวดิน มีเพียงประมาณ 2 แสนล้าน ลบ.เมตรเท่านั้น ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง ลุ่มน้ำยม มีน้ำบาดาลอยู่มหาศาล แต่กลับไม่ได้สนใจเรื่องนี้ เมื่อเราประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ก็ได้แต่พยายามเอาน้ำจากลุ่มน้ำหนึ่งไปยังอีกลุ่มน้ำหนึ่ง เสียค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะ ทำท่อ ทำลายสิ่งแวดล้อม ขณะที่เราสามารถนำน้ำจากใต้ดินมาใช้ได้

 

 

“ในอีสาน กรมน้ำบาดาลก็เพิ่งขุดเจาะน้ำ ปรากฎว่าลึกไปเพียง 1 กม. ก็มีน้ำบาดาลให้ใช้ แม้บางชั้นอาจจะมีน้ำเค็มบ้างก็ตาม โดยรวมแล้วเรามีน้ำบาดาลอยู่มหาศาล แต่ใช้ไปเพียงปีละ 14,000 ล้าน ลบ.เมตร เท่านั้น ยังมีอีกอย่างน้อย 2 เท่าตัว คือ 45,000 ล้าน ลบ.เมตรต่อปี ที่น่าจะนำมาใช้ได้ทั้งเรื่องการเกษตร และอุปโภคบริโภค” ดร.พิสิฐกล่าว

 

และย้ำว่า ขณะนี้เรามองข้ามน้ำส่วนใหญ่ เพราะมองเพียง 2 มิติ และใช้เงินจำนวนมหาศาลไปทุ่มกับโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในการทำน้ำท่า ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างเขื่อน ซึ่งมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่น้ำบาดาลเป็นโครงการขนาดเล็กกระจัดกระจาย มีค่าใช้จ่ายไม่แพงอย่างที่ปรากฎในรายงาน ดังนั้นจึงอยากให้มีการพิจารณานำน้ำบาดาลมาใช้ เพราะน้ำบาดาลเป็นน้ำสะอาด ไม่ต้องใช้คลอรีนบำบัด ไม่เกิดปัญหาสารเคมี ไม่มีปัญหาการใช้ที่ดิน

 

จากการลงพื้นที่ร่วมกับ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.จังหวัดสมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ในอำเภอยี่สารพบว่ามีการใช้พื้นที่จำนวนมากเพื่อกักเก็บน้ำ แต่หากใช้น้ำบาดาลแล้วจะมีการกรองโดยธรรมชาติ และเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้กับน้ำท่าแล้วก็ไม่ต่างกันมากนัก ทุกวันนีเราสามารถนำแสงอาทิตย์มาใช้ก็จะทำให้ลดต้นทุนจากการใช้พลังงานสะอาดได้อีกทาง

 

ในรายงาน หน้า 6 ระบุว่าในบ้านเรามีถึง 20,000 หมู่บ้าน ไม่มีน้ำประปาสะอาดใช้ ขณะที่กรมน้ำบาดาลได้รับงบประมาณจำกัดเพียงปีละ 2-3,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่กลับจะทุ่มเงิน 70,000 กว่าล้านเพื่อผันน้ำลุ่มน้ำยวมทำให้เกิดคำถามว่าจะเกิดประโยชน์ประชาชนจำนวนเท่าใด แต่หากนำเงินจำนวนนี้มาทำประปาหมู่บ้าน ก็เชื่อว่าทุกหมู่บ้านในประเทศไทย ที่ประชากรกว่า 90% ของหมู่บ้านยังไม่มีระบบประปาจากน้ำบาดาลก็จะมีน้ำที่สะอาดใช้ได้ เป็นจำนวนนับล้านคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง