ทำไม? "เกาหลีใต้" มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก
วันนี้( 14 ก.ย.65) เว็บไซต์ “สเตรตไทม์ส” รายงานวิกฤตด้านประชากรศาสตร์ในเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก และหากไม่ได้รับการแก้ไขก็มีแนวโน้มว่า ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 21 จำนวนประชากรในเกาหลีใต้จะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของปัจจุบัน
ขณะที่ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ของเกาหลีใต้ ไม่ได้นิ่งนอนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงได้ประกาศแผนเพิ่มเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูลูกให้แก่ทุกครอบครัวที่มีลูกคนใหม่เป็นเดือนละสูงสุด 1 ล้านวอน หรือประมาณ 26,000 บาท เพื่อกระตุ้นให้ทุกครอบครัวมีลูกเพิ่ม หวังแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดที่ต่ำในประเทศ
อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ก็เหมือนกับในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่เผชิญกับปัญหาอัตราการเกิดที่ต่ำ ซึ่งแค่เพียงนโยบายอย่างเดียวคงไม่พอที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ เนื่องจากสำหรับผู้หญิงที่ตัดสินใจจะมีลูกแล้ว เงินอุดหนุนจากรัฐบาลอาจช่วยลดความกังวลได้เพียงแค่ไม่กี่ปีเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาหลีใต้ ที่บรรดาพ่อแม่มักจะทุ่มเงินเพื่อหวังจะซื้ออนาคตที่ดีให้แก่ลูก
ธนาคารชินฮัน ของเกาหลีใต้ เผยข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่มีลูกเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยม ว่ามีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราวครอบครัวละ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโรงเรียนกวดวิชาเอกชน ที่ยื่นข้อเสนอให้ลูกๆ ของพวกเขาสามารถเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังได้
ภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่ลูกของพวกเขาเข้าเรียนหนังสือแล้วเท่านั้น แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวางแผนที่จะมีลูก เนื่องจากพวกเขาต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อหาที่พักอาศัยที่เหมาะสมแก่ครอบครัว และเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หลายคนมีหนี้สินจำนวนมาก ประกอบกับราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ส่งผลเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของคนทั่วไป พวกเขาจะต้องทำงานหาเงินนานถึง 18 ปี เพื่อซื้อบ้าน 1 หลังในกรุงโซล
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาย-หญิง ในเกาหลีใต้ ที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจากผลสำรวจของ “อิปซอส” บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย ระบุว่า
ปัญหาดังกล่าวเป็นสาเหตุให้จำนวนคู่แต่งงานในเกาหลีใต้ลดลง
โดยเมื่อปีที่แล้ว มีคู่แต่งงานใหม่ในเกาหลีใต้ทั้งหมด 1 แสน 9 หมื่น 2500 คู่ ซึ่งลดลงจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วราวร้อยละ 42 โดยเกิดจากฝ่ายหญิงต่างรู้สึกถูกกีดกัน และถูกตัดโอกาสในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่
ในขณะที่ฝ่ายชายก็รู้สึกกดดันจากความคาดหวังเรื่องการหาเงิน ประกอบกับไม่พอใจกฎหมายเกณฑ์ทหารของเกาหลีใต้ ที่กำหนดให้ผู้ชายทุกคนที่อายุ 20 ปีบริบูรณ์ ต้องเข้ารับใช้ชาตินาน 2 ปี ซึ่งพวกเขามองว่ามันกระทบกับเรื่องความสัมพันธ์กับฝ่ายหญิง และงานประจำที่พวกเขาทำ
ภาพจาก AFP