รีเซต

กลุ่มแบงก์รักษามาตรฐาน กำไร 6 เดือนแสนล้านโต 7%

กลุ่มแบงก์รักษามาตรฐาน กำไร 6 เดือนแสนล้านโต 7%
ทันหุ้น
26 กรกฎาคม 2565 ( 18:52 )
102
กลุ่มแบงก์รักษามาตรฐาน กำไร 6 เดือนแสนล้านโต 7%

บล. เอเซีย พลัส จำกัด รายงานกำไรสุทธิ 2Q65 กลุ่มแบงก์ตามคาด ที่ 5.1 หมื่นล้ารนบาท ขยายตัว 2%YoY ขณะที่ 6 เดือนแรกกำไรสุทธิ 1.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% YoY ภาพรวมสินเชื่อขยายตัวดี ตั้งสำรองลดในแง่ YoY ส่วน NPL ที่ 3.76% ลดลงเล็กน้อย เลือกธนาคารพาณิชย์รายใหญ่อย่าง BBL, KBANK และ KTB ได้เปรียบดอกเบี้ยขาขึ้น

 

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด รายงาน กําไรสุทธิกลุ่มแบงก์ (8 ธนาคาร) งวด 2Q65 อยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท ทรงตัว QoQ และเติบโต 2% YoY ซึ่งแบงก์ส่วนใหญ่รายงานกำไรใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ มี KTB รายงานกำไรดีกว่าคาดการณ์ 10.5%, BAY และ TTB ราว 7% - 8%

โดยสังเกตเห็นความแตกต่างของนโยบายการตั้งสำรอง (ECL) ในเชิง QoQ (ลดลง YoY ทุกธนาคาร ยกเว้น SCB) อย่าง BAY, KKP และ TTB แม้คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมไม่ได้ฟื้นตัวดี ขณะที่ BBL, KBANK, KTB, SCB และ TISCO มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต (ECL) สูงขึ้นทั้งเพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งแบงก์ใหญ่อย่าง KBANK และ TISCO มีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อ (NPL/Loan) สูงขึ้นราว 0.09% และ 0.05% จากสิ้นงวด 1Q65ตามลําดับ

 

ตั้งสำรองลดลงYoY

ภาพรวม ECL กลุ่มแบงก์อยู่ที่ 4.6หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 8% QoQ, แต่ลดลง15%YoY จากฐานการตั้งสํารองสูง) คิดเป็น Credit Cost กลุ่มที่ 1.32% เทียบกับ 1.24% งวดก่อนและ 1.65% ช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่มูลหนี้ NPL ณ สิ้นงวด 2Q65 เท่ากับ 5.27 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.4% QoQ, เพิ่มขึ้น 0.3% YTD) ประคองตัวได้ผ่านการบริหารจัดการอย่างตัดจำหน่าย (Write-off) และขายหนี้ กอปรกับฐานสินเชื่อเติบโต 1.2% QoQ ช่วยให้ Dilute NPL กลุ่มแบงก์อยู่ที่ 3.76% จาก 3.79% ณ สิ้นงวดก่อนและ 3.83% ณ สิ้นปี 2564

 

ด้านการดำเนินงานอย่างรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (NII) กลุ่มสถาบันการเงินสูงกว่าคาด 2% เท่ากับ 1.4 แสนล้านบาท เพิ่ม 3.6% QoQ (เพิ่มขึ้น 8% YoY) หนุนด้วยสินเชื่อกลุ่มที่ขยายตัวตามข้างต้น ประกอบกับ Yield on loan เพิ่มเป็น 4.57% จาก 4.48% งวดก่อน (2Q64 ที่ 4.56%) ดีขึ้นเกือบทุกธนาคาร ทั้งจากสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และการรุกสินเชื่อในกลุ่มที่มี Yield สูง

 

NIMดีขึ้นเป็น 2.87%

โดยรวมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) กลุ่มแบงก์อยู่ที่ 2.87% จาก 2.80% งวด 1Q65 และ 2.82% ช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมฯ กลุ่มแบงก์อ่อนกว่าคาดการณ์ 3% โดยติดลบ 3% QoQ (ติดลบ 2%YoY) ตามความผันผวนใน Capital Market ลดลงเกือบทุกธนาคาร ยกเว้น TTB ที่ไม่ได้มีสัดส่วนรายได้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์มากนัก

 

ทั้งนี้ BBL บริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับ 6 เดือนแรกปี 2565 จำนวน 14,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.0% จากงวดแรกปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 13.9% จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อ ขณะที่ NIM อยู่ที่ 2.18%  สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 19.8%ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์

 

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัว สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2.8%จากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 50.4%

 

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 14,843 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรองโดยพิจารณาถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงอยู่

 

ชู BBL -KBANK -KTB

บล. เอเซีย พลัส รายงานว่ากำไรสุทธิ 1H65 กลุ่มแบงก์ที่ 1.02 แสนล้านบาท (+7% YoY) คิดเป็นสัดส่วน 53% ของประมาณการกำไรทั้งปี (มีการปรับกำไร KTB เพิ่มราว 14%) ที่ 1.94 แสนล้านบาท (+9% YoY) คงน้ำหนักเท่าตลาด มองราคาหุ้นในกลุ่มซื้อขายบน PBV ราว 0.7 เท่า ถือว่าไม่แพง เลือกแบงก์ใหญ่ ที่จะได้เปรียบยามดอกเบี้ยขาขึ้น อย่างBBL KBANK และ KTB

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง