รีเซต

วิเคราะห์เหตุ"ภูเขาไฟใต้ทะเลตองกา"ระเบิด จนเกิดสึนามิสะเทือนทั่วแปซิฟิก

วิเคราะห์เหตุ"ภูเขาไฟใต้ทะเลตองกา"ระเบิด จนเกิดสึนามิสะเทือนทั่วแปซิฟิก
TNN ช่อง16
17 มกราคม 2565 ( 13:33 )
109

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตองกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในแปซิฟิก ประกาศเตือนภัยสึนามิ หลังเกิดการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล ‘ฮังกา ตองกา ฮังกา ฮาอาปาย’ เมื่อวันเสาร์ (15 มกราคม) ส่งผลให้เกิดสึนามิซัดถล่มชายฝั่งทั่วตองกา 

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น ระบุว่า เกิดความเสียหายหนักในกรุงนูกูอะโลฟาของตองกา แม้จะยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บร้ายแรงและเสียชีวิต 

ภูเขาไฟใต้ทะเล คืออะไร ?

ภูเขาไฟใต้ทะเล หรือ ภูเขาไฟ เป็นภูเขาไฟที่อยู่ใต้พื้นผิวทะเล และมักเกิดการปะทุใต้น้ำ ประเมินว่าทั่วโลกมีภูเขาไฟใต้ทะเลมากกว่า 1 ล้านแห่ง มักกระจุกตัวอยู่ใกล้รอยเปลือกโลก หากเกิดการปะทุจะปล่อยเถ้าควัน และลาวาร้อน ออกมามหาศาล

มูลนิธิโลกเพื่อการสำรวจมหาสมุทรระบุว่า อันที่จริงแล้ว กิจกรรมทางภูเขาไฟกว่า 3 ใน 4 ทั่วโลก มักเกิดใต้ทะเล ขณะที่การปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเล ยังก่อเกิดภูเขาใต้ทะเลได้ 

ภูเขาไฟฮังกา ตองกา ฮังกา ฮาอาปาย ปะทุบ่อยแค่ไหน?

ภูเขาไฟลูกนี้ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงนูกูอะโลฟาของตองกา เพียง 65 กิโลเมตร และเกิดการปะทุอยู่บ่อยครั้ง 

ปี 2009 ภูเขาไฟฯ ปะทุจนโผล่พ้นทะเลออกมา

ปี 2015 เกิดการปะทุรุนแรง ก่อเกิดเป็นเกาะยาว 2 กิโลเมตร กว้าง 1 กิโลเมตร และสูง 100 เมตร

20 ธันวาคม ปี 2021 เกิดการปะทุ ส่งเถ้าควันมหาศาลขึ้นไปบนท้องฟ้า เห็นได้ไกลถึงตองกา

15 มกราคม 2022 การปะทุครั้งล่าสุด ที่เชื่อว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 1 พันปี ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง และสึนามิซัดถล่มตองกา

การปะทุเมื่อวันที่ 15 มกราคม

การปะทุครั้งแรกเกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม แต่ครั้งที่สองถือว่ารุนแรงยิ่งกว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม ส่งเถ้าถ่านขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร และทำให้ให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ความสูงราว 1.2 เมตร 

ดาวเทียม GOES-West และ Himawari-8 จับภาพการปะทุได้ คล้ายกับภาพการระเบิดของนิวเคลียร์ ซึ่งการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเล เกิดขึ้นนาน 8 นาที และ ได้ยินเสียงไกลถึงฟิจิ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไม่ต่ำกว่า 800 กิโลเมตร

แล้วสึนามิเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดสามารถก่อให้เกิดสึนามิได้ แต่กระบวนการก่อสึนามิจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล ยังไม่มีการชี้ชัดทางวิทยาศาสตร์และยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ รวมถึงสึนามิกจากภูเขาไฟระเบิดครั้งนี้ด้วย 

โรบิน จอร์จ แอนดรูว์ส นักภูเขาไฟวิทยาบอกกับ Al Jazeera ว่า “ยังไม่แน่ชัดว่า สึนามิเกิดขึ้นทันทีหลังภูเขาไฟระเบิดหรือไม่”

“ไม่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นเพราะส่วนหนึ่งของภูเขาไฟจมลงไปใต้น้ำ หรือจากการะเบิดใต้น้ำ หรือเป็นส่วนผสมของทั้งสองปัจจัย”

 ทั่วโลกเร่งให้ความช่วยเหลือ

นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ของนิวซีแลนด์ บอกว่าได้ส่งเครื่องบินไปยังตองกาเช้าวันนี้ (17 มกราคม) เพื่อสำรวจว่าเกิดความเสียหายในพื้นที่แถบชายฝั่งและพื้นที่ลุ่มต่ำของตองกามากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกับออสเตรเลียที่ส่งเครื่องบินของกองทัพออกไปสำรวจที่ตองกาด้วย หลังทราบดีว่าสถานการณ์ในตองกาขณะนี้มีความยากลำบากอย่างยิ่ง เนื่องจากการสื่อสารได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก 

หลังภูเขาไฟใต้มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ปะทุอย่างรุนแรงเมื่อวันเสาร์ ได้ทำให้เถ้าถ่านภูเขาไฟปกคลุมทั่วทั้วเกาะตองกา กระแสไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างและอินเตอร์เน็ตใช้การไม่ได้ ทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากสึนามิขนาด 1.2-3 เมตรที่พัดเข้าชายฝั่งหลายพื้นที่ของตองกา 

แต่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์บอกว่า น่าจะเกิดความเสียหายพอสมควรกับสิ่งปลูกสร้างริมชายฝั่ง ท่าเรือ และอื่น ๆ คาดว่ามีชาวบ้านกว่า 80,000 คนได้รับผลกระทบจากสึนามิและการปะทุของภูเขาไฟ

มีรายงานว่า ชาวตองกาล้วนให้ความร่วมมือในการอพยพหนีคลื่นแรงที่ซึ่งเข้าสู่ชายฝั่ง รวมถึงสมเด็จพระราชาธิบดีตูโปอูที่ 6 ซึ่งราชองครักษ์ได้อพยพพระองค์ออกจากพระตำหนัก ซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่งได้อย่างทันท่วงที 

สำหรับตองกาเป็นราชอาณาจักรที่เป็นหมู่เกาะ ประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ มากถึง 169 เกาะ ในจำนวนนี้ 36 เกาะเป็นเกาะร้าง มีประชากรประมาณ 105,000 คน โดย 70% อาศัยอยู่บนเกาะตองกาตาปูที่เป็นเกาะหลักของประเทศ


ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง