รีเซต

กบช.ให้ออม 12 ปี ทะลุ 1 ล้านบาท

กบช.ให้ออม 12 ปี ทะลุ 1 ล้านบาท
TNN Wealth
9 เมษายน 2564 ( 09:47 )
267
กบช.ให้ออม 12 ปี ทะลุ 1 ล้านบาท

รัฐบาลผ่านกรอบ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. ซึ่งหลายคนที่ติดตามข่าวสารมานาน จะทราบดีว่า รัฐบาลหลายยุคหลายสมัย พยายามผลักดันมานาน แต่ไม่สำเร็จ และมามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ในรัฐบาลนี้ ที่บอกว่าเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะ ครม.ผ่านแค่กรอบ และต้องผ่านในสภาอีกครั้ง ก่อนที่จะประกาศใช้จริง ลองคำนวนอัตราในกรอบที่ ครม.อนุมัติมาล่าสุด ออม 12 ปี ทะลุ 1 ล้านบาท เดี๋ยวเราไปดูว่า ออมอย่างไร


มาดูรายละเอียดของกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่กำหนดเบื้องต้น ต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและไม่เกิน 60 ปี อยู่ในระบบประกันสังคม และไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นี่เป็น 3 เงื่อนไขหลักๆ ที่กำหนดเอาไว้
เมื่อเป็นสมาชิก กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย แบ่งเป็น


- ปีที่ 1 - 3 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของค่าจ้าง 


- ปีที่ 4 - 6 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้าง 


- ปีที่ 7 - 9 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของค่าจ้าง 


- ปีที่ 10 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของค่าจ้าง 

โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน กรณีลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว

 


การรับเงินจาก กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกรับบำเหน็จ หรือบำนาญรายเดือนเป็นระยะเวลา 20 ปี กรณีเลือกบำเหน็จ ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ลูกจ้างส่ง เงินสมทบจากนายจ้าง รวมผลตอบแทน 
กรณีเลือกบำนาญ แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นบำเหน็จก็สามารถทำได้ เช่น รับบำนาญแล้ว 5 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นบำเหน็จ จะได้รับเงินเท่ากับเงินบำนาญ 15 ปีที่เหลือ กรณีที่ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจนใกล้ถึงแก่ชีวิตก่อนครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อออกจากงานแล้ว จะขอรับเงินสะสม เงินสมทบ บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

 


ลองคำนวนอัตราเงินสมทบของลูกจ้าง และนายจ้าง ในอัตราที่ ครม. อนุมัติกรอบมาล่าสุด กรณีสมาชิกกองทุน กบช. มีเงินเดือน 6 หมื่นบาท สูงสุดตาม กบช.กำหนด 


ส่งเงินสมทบ กบช.


 3 ปี ได้ 1.29 แสนบาท 


 6 ปี ได้ 345,600 บาท เทียบกับ 6 ปี ของประกันสังคม ได้ 1.6 แสนบาท 


 9 ปี ได้เงิน 648,000 บาท  


 12 ปี ในอัตราสูงสุด 10% จะได้เงิน ทะลุ 1 ล้านบาท 

 


รวมกับ บำเหน็จ บำนาญ จากกองทุนประกันสังคม เชื่อว่าจะแก้ "จนตอนแก่" ได้ไม่มากก็น้อย

 


แต่ต้องบอกว่า นี่คือ ตัวอย่าง ตาม ที่ครม.อนุมัติกรอบเอาไว้เท่านั้น ยังคงต้องผ่านที่ประชุมรัฐสภา ก่อนร่างออกมาเป็นกฎหมาย และประกาศใช้ ซึ่งคาดว่า เร็วสุดที่จะได้เห็น หากประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วจะต้องรอจัดตั้งหน่วยงาน 360 วัน ก่อนบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลาเร็วที่สุด 2 ปี แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับผลกระทบโควิด-19 คลี่คลาย และไม่กระทบกับภาคเอกชนมากจนเกินไป

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง