Ford พัฒนาวิธีผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากเศษต้นมะกอกลดการใช้พลาสติก
ฟอร์ด (Ford) แบรนด์รถยนต์สัญชาติอเมริกัน กำลังพัฒนาวิธีการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จากขยะที่ได้จากการทำสวนต้นมะกอก เช่น กิ่งและใบที่ถูกตัดทิ้ง ด้วยการผสมกับวัสดุคอมโพสิตชีวภาพ เพื่อลดการใช้พลาสติกในการผลิต และยังช่วยลดการเผาขยะ ที่ทำให้ก่อมลพิษทางอากาศอีกด้วย
โดยฟอร์ดจะรับเศษต้นมะกอก ซึ่งได้มาจากสวนมะกอกในประเทศสเปน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการผลิตน้ำมันมะกอกมากมากถึงร้อยละ 10 ของโลก มาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และจะทดสอบการใช้งาน รวมถึงความทนทานของชิ้นส่วนรถยนต์เหล่านี้ ที่สำนักงานใหญ่ในยุโรป ณ ประเทศเยอรมนี
โดยทีมวิศวกรได้ใช้เทคโนโลยีจำลองเสมือนจริงบนคอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินการใช้งานของวัสดุจากต้นมะกอก ทั้งในแง่ของความทนทาน ความแข็งแรง และความสามารถในการขึ้นรูป จากนั้นเมื่อได้ข้อมูลแล้วพวกเขาจึงเริ่มสร้างต้นแบบ “แผ่นที่วางเท้า” โดยจะประกอบไปด้วยวัสดุประเภทเส้นใยที่ได้จากต้นมะกอกร้อยละ 40 และพลาสติกโพลีโพรพีลีนรีไซเคิล อีกร้อยละ 60
เมื่อได้ส่วนผสมของต้นแบบแล้ว มันจะถูกวางในเครื่องจักรเพื่อขึ้นรูปออกมาเป็นแผ่นที่วางเท้า ที่มีความทนทาน และมีน้ำหนักเบา ซึ่งบริษัทระบุว่าการใช้ขยะจากต้นมะกอก มาผลิตชิ้นส่วนรถยนต์นี้ ช่วยลดการใช้พลาสติกในการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวได้ อีกทั้งยังช่วยลดการกำจัดขยะด้วยเผาในสวนมะกอก ทำให้อากาศในพื้นที่บริเวณนั้นสะอาดขึ้น
ทั้งนี้มีข้อมูลจากฟอร์ดที่ระบุว่าในทุก ๆ ปี จะมีขยะจากการตัดต้นมะกอกในสวนมากถึง 7 ล้านตันต่อปี ดังนั้นความพยายามในการใช้วัสดุจากขยะต้นมะกอก มาผลิตเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ของบริษัท นอกจากจะเป็นการช่วยโลกแล้ว ยังตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคยานยนต์รุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบและประเมินกระบวนการสำหรับการผลิตเพื่อใช้งานจำนวนมาก ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการส่งมอบรถรุ่นใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนายานยนต์ ที่มุ่งเน้นเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้น
ข้อมูลจาก designboom, cbsnew, autodealertodaymagazine