รีเซต

"ดีอีเอส" ชี้ สื่อนำเสนอภาพ-คลิปเป็นข่าวได้ ไม่ขัดกม.PDPA หลัง "แอนนา" โวยถูกละเมิดสิทธิ

"ดีอีเอส" ชี้ สื่อนำเสนอภาพ-คลิปเป็นข่าวได้ ไม่ขัดกม.PDPA หลัง "แอนนา" โวยถูกละเมิดสิทธิ
มติชน
7 มิถุนายน 2565 ( 09:57 )
85

“ดีอีเอส” ชี้ สื่อนำเสนอภาพ-คลิปเป็นข่าวได้ ไม่ขัดกม.PDPA หลัง “แอนนา” โวยถูกละเมิดสิทธิ เผย ตร.ถ่ายรูปเป็นข้อมูลได้ เพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

เมื่อเวลา 09.05 น. วันที่ 7 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายวรินทร วัตรสังข์ หรือ แอนนา แสดงความไม่พอใจผู้ประกาศข่าวรายหนึ่ง ที่นำคลิปวิดีโอระหว่างตนเองถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ มาเผยแพร่ และขอใช้สิทธิพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ว่า โดยหลักการตามพ.ร.บ. ดังกล่าวมุ่งคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนที่ถูกเก็บไว้ตามร้านค้า หรือธุรกิจต่างๆ เพื่อไม่ให้นำไปใช้จนเกิดความเสียหาย ขณะเดียวกัน ก็มีข้อยกเว้นในมาตรา 4 (3) ไว้สำหรับวิชาชีพสื่อมวลชน การเสนอข่าวต่างๆไม่เข้าข่ายเป็นความผิด ดังนั้นสื่อมวลชนสามารถเสนอข่าวได้อย่างอิสระ ไม่ต้องกังวลว่าจะผิดกฎหมาย PDPA เพียงแต่ต้องเป็นไปตามจริยธรรมของวิชาชีพสื่อสารมวลชน ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจึงไม่ต้องกังวล สามารถนำเสนอข่าวได้ตามหน้าที่ ถ้าทำอย่างตรงไปตรงมาก็ไม่มีความผิดตามกฎหมาย PDPA

 

ส่วนที่นายวรินทรอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายภาพ-คลิปในพื้นที่ส่วนตัวอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายนั้น ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ บัญญัติไว้ว่าการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีกฎหมายคุ้มครอง หรือกำกับดูแลอยู่แล้ว ให้ว่าไปตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องนั้นๆ อาทิ เรื่องการสืบสวนสอบสวน และการดำเนินคดีต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีกฎหมายกำกับดูแลและให้อำนาจเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว

 

ขณะเดียวกัน ในมาตรา 4 ยังมีข้อยกเว้นไว้สำหรับกรณีการทำงานปกติของหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งไม่เข้าข่ายตามความผิดของพ.ร.บ.ฉบับนี้เช่นกัน เพราะหน่วยงานด้านความมั่นคงจะมีการสืบสวนสอบสวนเก็บข้อมูลของผู้ต้องหาและผู้ที่กระทำความผิด สิ่งเหล่านี้จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า อย่านำเรื่องการดำเนินคดี หรือเรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ไปปะปนกับเรื่องของกฎหมาย PDPA จนทำให้เกิดความสับสน กฎหมายตัวนี้คุ้มครองเรื่อง ข้อมูลส่วนบุคคล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือเรื่องส่วนตัวอื่นๆ ที่เราไม่อยากเปิดเผยที่ถูกเก็บตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งไม่อยากให้มีการรั่วไหล ส่วนกรณีประชาชนรู้สึกว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธินั้น สามารถร้องเรียนมาที่กระทรวงดีอีเอสหรือทางเว็บไซต์ของกระทรวงได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง